คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : เมื่อกระแสโลกเปลี่ยน...เทรนด์การลงทุนก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน !!!

29 พฤษภาคม 2560

         คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสใหญ่ของโลกการลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การที่นักลงทุน ในสหรัฐฯ และยุโรปโยกเงินออกจากกองทุนหุ้นที่ใช้ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้น (active fund) ไปลงทุนในกองทุนหุ้นที่ลงทุนแบบตามดัชนี (passive fund) ไม่ว่าจะเป็น Exchange Traded Fund หรือ Index Fund ก็ตาม  ทั้งนี้กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักสองประการคือ (1) ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนแบบใช้ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นลงทุนในแต่ละประเทศอยู่ในระดับสูงมาก และยังมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือ Front End Fee ที่สูงมากอีกด้วย และ (2) ผลตอบแทนของกองทุนรวมแบบที่ใช้ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้น แพ้กองทุนแบบตามดัชนีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็อาจมาจากค่าธรรมเนียมที่สูงเลยฉุดให้ผลตอบแทนสุทธิถึงผู้ลงทุนลดลง สาเหตุอีกส่วนก็มาจากข้อจำกัดของการใช้นักวิเคราะห์เลือกหุ้น ซึ่งก็มักจะดูเฉพาะหุ้นใหญ่ๆ หรือที่เรียกกันว่า Big Cap สำหรับหุ้นที่มูลค่าทางตลาดเล็กนั้นก็มีเป็นพันๆ ตัว ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างก็ไม่มีเวลาไปดู ถึงแม้ว่าจะลงทุนหุ้นตัวเล็กถูกหลายตัวก็ไม่ทำให้ผลตอบแทนรวมของกองทุนเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากขนาดเล็ก แต่เราก็รู้กันดีว่าบริษัทเล็กๆ นั้นมักจะเติบโตเร็วกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ฉะนั้นในระยะยาวแล้วเมื่อลงทุนกระจายไปในบริษัทเล็กใหญ่คละกันทั้งกระดานก็ได้ผลดีไม่เลวเลยทีเดียว 

         “ถ้ามาดูตัวอย่างสถิติในประเทศไทยเปรียบเทียบ โดยเอากองทุนหุ้นไทยทุกกองในตลาดที่มีประมาณ 200 กองทุน มาเรียงลำดับตามผลตอบแทน และเอา SET total return index มาเรียงเทียบกัน จะพบว่าในช่วง 2 – 3 ปีหลังนี้แต่ละปีจะมีกองทุนเพียง 30 กองจาก 200 กองทุนที่สามารถชนะ index ได้ หรือคิดเป็นเพียงประมาณ 15% กองทุนที่เหลือประมาณ 85% นั้นแพ้ index”

     

         แต่กระแสการลงทุนแบบ passive หรือลงทุนตามดัชนีนั้น  ในบ้านเรากลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก Exchange Traded Funds ที่มีอยู่ในตลาดไทยก็ยังมีขนาดเล็กกว่ากองทุนแบบ active fund ที่ใช้ผู้จัดการกองทุนมาเลือกหุ้น พอมาลองเจาะลึกดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศกลับไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา สันนิษฐานว่าประเด็นแรกน่าจะมาจากช่องทางการจัดจำหน่ายของ ETF ที่ลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ แต่บริษัทหลักทรัพย์ส่วนมากนิยมแนะนำหุ้นรายตัวเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด ประเด็นที่สองอาจจะเป็นเพราะนักลงทุนไทยส่วนมากจะลงทุนตามเพื่อนหรือตามสื่อ และยึดติดกับกองทุนที่ลงทุนนี้ได้ที่เท่าไหร่ มากกว่าการสร้างผลตอบแทนโดยการกระจายสินทรัพย์และการลงทุนระยะยาว ประเด็นที่สามคือ บริษัทจัดการกองทุนใหญ่ๆ ในเครือของธนาคารพาณิชย์ก็มักมีกองทุน index  fund ของตน ที่สามารถซื้อขายได้สะดวกสบายผ่านช่องทางสาขาของธนาคาร และโมบายแอพพลิเคชั่นต่างๆ ของธนาคาร และเนื่องจากขนาดกองทุนนั้นใหญ่กว่ามาก ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ มี tracking error ไม่แพ้พวกกองทุน Exchange Traded Funds

         แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์อาจจะไม่ได้รับความนิยมในบ้านเรา แต่กระแสหลักของโลกนี้ส่งผลกระทบทางอ้อมกับภาพรวมการลงทุนในตลาดต่างๆไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะตลาดขนาดเล็กอย่างตลาดไทยที่ในมุมมองของต่างชาติก็ไม่ต่างจากกลุ่มหุ้นขนาดเล็กหรือ small cap ในบ้านเขา การที่เม็ดเงินขนาดใหญ่ระดับโลกไหลออกจากกองทุนที่ใช้ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้น ไปสู่กองทุนที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ซื้อขายตาม index ตลาดนั้น ทำให้ผู้จัดการกองทุนที่เงินไหลออกต้องขายหุ้นที่ตนเลือกสรรไว้ออก ในขณะที่กองทุน Exchange Traded Funds และ index fund  นั้นไม่เลือกหุ้น ใช้วิธีซื้อหุ้นทุกตัวบนกระดานตามน้ำหนัก market cap หรือมูลค่าทางตลาด ที่นี้ก็ยุ่งซิครับ หุ้นที่ผู้จัดการกองทุนตั้งใจเลือกมาอย่างดีว่าจะเติบโต สามารถสร้างกำไรถูกขายออกมาก แต่กองทุนที่ใช้คอมพิวเตอร์ซื้อตาม index กลับซื้อทุกตัว โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่มี market cap สูงก็จะถูกซื้อมาก  ไม่ว่ากำไรของบริษัทนั้นจะโตช้าหรือไม่โตเลยก็ไม่สน เมื่อการไหลของเงินต่างชาติใหญ่เป็นแบบนี้ ผู้จัดการกองทุนของไทยที่ยังใช้วิธีเดิมในการเลือกหุ้นก็งงว่าทำไมหุ้นที่ตนเลือกมาอย่างดี กำไรเติบโตกลับถูกเทขายราคาไม่ขึ้น แต่หุ้น Big Cap บางตัวที่กำไรไม่ดีกลับราคาขึ้นเอาๆ พอราคาต่อหน่วยของกองทุนไม่ไปไหน แพ้ index ผู้ถือหน่วยก็เทขายกองทุนซ้ำอีกไปกันใหญ่ 

         เราไม่อาจมองข้ามอิทธิพลของ Fund Flow หรือกระแสหลักการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักลงทุนระดับโลกนี้ได้ เพราะมันจะยังส่งผลกระทบต่อตลาดและการลงทุนในบ้านเราไปอีกพักใหญ่ แม้ว่าในที่สุดแล้วบริษัทที่กำไรเติบโตดีกว่า ราคาหุ้นควรจะขึ้นมากกว่าตามไปด้วย แต่ความบิดเบือนที่เกิดจากกำไรโตแต่ราคาไม่ขึ้น ซึ่งเกิดจากกระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะยาวนานกว่าความอดทนของนักลงทุนไทยหลายคน อย่างที่ วอเรน บัฟเฟ็ต เคยกล่าวไว้ว่าตลาดหุ้น คือเครื่องมือถ่ายเทความมั่งคั่งร่ำรวยจากผู้ที่ไม่อดทนไปสู่ผู้ที่อดทน ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนนะครับ

 

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด