คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : เงินดิจิตอล (Bitcoin) vs เงินกระดาษ

25 กันยายน 2560

         เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคุณเจมี่ ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ได้ออกมาวิจารณ์เงินดิจิตอล หรือ cryptocurrency ว่าเป็นเรื่องหลอกลวง และทางธนาคารฯ จะไม่อนุญาตให้พนักงานไปทำธุรกรรมหรือลงทุนในเงินดิจิตอลดังกล่าว และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ประเทศจีนเองก็ได้ออกกฎห้ามการระดมทุนผ่านการออกตราสารเงินดิจิตอลหรือที่เรียกกันว่า Initial Coin Offering (ICO) สำหรับในประเทศไทยเองก็ได้มีนักลงทุนหัวก้าวหน้าหลายท่านที่ได้เริ่มไปลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล เช่น บิทคอยน์ หรือ อีเทอเรียม เป็นต้น ว่าแต่ว่ามันคืออะไร น่าลงทุนหรือไม่ หรือจะน่ากลัวอย่างที่คุณเจมี่วิจารณ์ไว้

         ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า เงินกระดาษ หรือ ธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มันคืออะไร เอาแบบเข้าใจง่ายที่สุดก็คือ เป็นตราสารที่ออกโดยธนาคารกลางและมีกฎหมายรองรับว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เงินนั้นนอกจากจะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติอื่นอีกคือ สามารถรักษามูลค่าได้ เมื่อเงินรักษามูลค่าได้จึงก็เป็นหน่วยวัดมูลค่าอีกด้วย การที่ธนาคารกลางจะพิมพ์ธนบัตรได้นั้น ธนาคารกลางหรือภาครัฐต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อรองรับการออกธนบัตร ทุนสำรองอาจเป็นโลหะมีค่า เช่น ทองคำ หรือพันธบัตรของรัฐบาลต่างประเทศที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือของสากล เช่น เงินสกุลดอลลาร์ เงินสกุลยูโร หรือเงินเยน เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหนึ่งไปอีกสกุลหนึ่ง

         เราลองมาคิดกันเล่นๆ ให้เห็นภาพ หากเราจะเอาเงินบาทไทยไปซื้อของที่ร้านค้าในต่างประเทศ ร้านค้าก็จะไม่รับเพราะไม่รู้จัก หรือแม้จะรู้จักแต่ไม่รับเพราะไม่ได้เป็นตราสารที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศของเขา ซึ่งไม่ต่างจากกระดาษใบหนึ่ง แต่ถ้านำธนบัตรเงินบาทนี้มาแลกเปลี่ยนกับสินค้าในประเทศไทยก็สามารถทำได้ หรือนำไปแลกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะสามารถขอแลกเป็นเงิน ดอลลาร์หรือยูโรได้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศทำให้เงินบาทเป็นที่ยอมรับ

         ทีนี้เรามาทำความรู้จักเงินดิจิตอลกันบ้าง อันที่จริงแล้วเงินดิจิตอลนั้นมีหลายสกุล แต่ที่โด่งดังและได้รับความนิยมที่สุดก็คงเป็น บิทคอยน์ (bitcoin) เงินดิจิตอลนั้นไม่มีธนาคารกลางหรือรัฐบาลใดเป็นผู้ออก ไม่ได้มีโลหะมีค่าหรือพันธบัตรรัฐบาลประเทศใดเป็นทุนสำรองในการออก เงินดิจิตอลนั้นเริ่มต้นจากกลุ่มโปรแกรมเมอร์กลุ่มหนึ่งคิดค้นขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างกัน ถ้าจะลองนึกตัวอย่างตามก็ไม่ต่างกับผมเขียนเช็คหรือตั๋วสัญญาใช้เงินให้เพื่อนอีกคนเพื่อแลกกับสิ่งของของเพื่อนคนนั้น บิทคอยน์หรือเงินดิจิตอลนั้นผู้คิดค้นก็กลัวว่าจะมีคนมาลอกเลียนแบบเหมือนธนบัตรปลอม จึงได้มีการเข้ารหัสไว้มิให้ปลอมได้ แต่การส่งข้อมูลผ่านระบบดิจิตอลนั้นอย่างที่เรารู้กันโดยทั่วไปว่าสามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายดาย (เหมือนเรา copy รูปหรือข้อมูลจากไลน์เพียงไม่กี่คลิก) ผู้คิดค้นจึงได้ใช้วิธีการกระจายรหัสและประวัติการทำธุรกรรมแบบบล็อคเชน (blockchain) ไปในคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องในระบบอินเตอร์เน็ตจนทั่ว ทำให้การ copy ได้ยากมาก เพราะหากสามารถ copy รหัสส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนมาได้ เมื่อนำไปต่อกับรหัสส่วนอื่นที่กระจายไปแล้วก็จะรู้ทันทีว่ามันปลอมหรือได้ใช้ทำธุรกรรมนั้นไปแล้ว

         ส่วนการผลิตเงินดิจิตอลเพิ่มก็มิได้เกิดจากการที่มีทุนสำรองเพิ่ม แต่ระบบได้ตั้งกติกาไว้ว่าจะให้เหรียญหรือเงินดิจิตอลใหม่กับคนที่เข้ามาร่วมตรวจสอบธุรกรรมที่ทำไปแล้วและเข้ารหัสในชั้นที่ยากขึ้นไป (หรือที่ศัพท์เฉพาะเรียกว่า mining) บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องให้เหรียญหรือเงินดิจิตอลเพิ่มให้แก่คนที่มาช่วยตรวจสอบธุรกรรมและเข้ารหัส ก็เพราะว่าเมื่อธุรกรรมมากขึ้นและประวัติการทำธุรกรรมยาวขึ้น ระบบการกระจายรหัสก็ต้องพึ่งพิงจำนวนคอมพิวเตอร์และความสามารถในการคำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นการป้องกันผู้ร้ายที่อาจจะมีคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงมากๆ ในการเจาะเข้าไปในระบบและ copy หรือถอดรหัสได้ โดยปัจจุบันได้มีผู้เชี่ยวชาญประมาณการไว้ว่าต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์คำนวนสร้างรหัสชั้นถัดไปเป็นเวลาหลายเดือน จะกินค่าไฟไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นบาท จนกว่าจะสร้างรหัสบล็อคใหม่ได้เพื่อแลกกับเหรียญเงินดิจิตอลใหม่

         ถ้าย้อนกลับมาตัวอย่างเปรียบเทียบที่ผมเขียนเช็คให้เพื่อนไป เพื่อนก็เอาเช็คสลักหลังต่อจ่ายไปให้อีกคน เนื่องจากผู้รับคนที่สามไม่รู้ว่าลายเซ็นผมและลายเซ็นของผู้สลักหลังต่อนั้นเป็นอย่างไร ก็เลยไปหาคนที่สี่ที่ห้ามาช่วยจำและเป็นพยานว่าลายเซ็นของผมและเพื่อนคนแรกเป็นอย่างไร (พยานนี้ก็อาจจะต้องถ่ายสำเนาทั้งลายเซ็น และบัตรประชาชนของสองคนแรกไว้) คนที่สี่และคนที่ห้านี้ก็จะได้ค่าจ้างรางวัลเป็นเหรียญเงินดิจิตอลใหม่ พูดง่ายๆ ในตัวอย่างของเราก็คือ คนที่สี่และที่ห้าก็สามารถเขียนเช็คของเขาได้จำนวนหนึ่งตามที่ตั้งกติกาไว้ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนมีผู้เข้าร่วมเป็นพันเป็นแสน หรือเป็นล้าน เมื่อมีเหรียญเงินดิจิตอลและมีการทำธุรกรรมมากขึ้นก็ยิ่งต้องการพยานมากขึ้น และพยานเองก็ต้องเก็บสำเนาลายเซ็น บัตรประชาชน ของคนก่อนๆ มากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน

         เขียนมาถึงตรงนี้ผมเองก็ยังงงๆ ว่าทำไมจึงมีร้านค้ายอมรับเงินดิจิตอลเพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการและสินค้าของตน เพราะเงินดิจิตอลที่ว่านั้นเกิดจากการเข้าไปเป็นพยานร่วมบันทึกธุรกรรมและเข้ารหัสเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของเหรียญดิจิตอล แล้ววันหนึ่งหากเราจะเอาเหรียญเงินดิจิตอลนี้ไปแลกกับสิ่งของ หากทางร้านไม่รับเราจะทำอย่างไร จะไปแลกกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารแห่งประเทศใดก็ไม่ได้ กลับไปตามกับคนแรกที่เป็นผู้ออก(หรือผู้ที่ได้รับเหรียญดิจิตอลนั้นมา) เขาจะมีเงินหรือสิ่งของมีค่าอะไรให้กับเรา นอกเหนือไปจากหลักฐานที่พิสูจน์และย้อนไปถึงว่าเขาเป็นคนแรกที่คิดรหัสทางคณิตศาสตร์บล็อคหนึ่งได้เพื่อการเข้ารหัสและกระจายรหัสชั้นถัดๆ ไป

         ที่แน่ๆ คือเมื่อจำนวนธุรกรรมมากขึ้น ต้นทุนในการตรวจสอบธุรกรรมสร้างรหัสชั้นสูงขึ้นนั้น ก็ยิ่งยากและแพงขึ้นเรื่อยๆ นักเก็งกำไรบางท่านก็มองเห็นว่าต้นทุนในการผลิตเหรียญเงินดิจิตอลใหม่นั้นก็จะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นจะหมายความว่าเงินดิจิตอลนั้นต้องมีค่าสูงขึ้นไปด้วยหรือไม่ แบบนี้เท่ากับว่าหากธนาคารกลางประเทศใดลงทุนซื้อแท่นพิมพ์ธนบัตรราคาแพง(ที่ปลอมยาก) ก็จะทำให้ธนบัตรประเทศนั้นต้องมีมูลค่าสูงตามไปด้วย

         การที่เรานำเทคโนโลยีมาช่วยในชีวิตประจำวันมันก็เป็นเรื่องดีนะครับ แต่ในบางเรื่องก็ไม่ได้ดีเสมอไป เราในฐานะนักลงทุนก็ควรต้องศึกษาข้อมูลกันอย่างละเอียด  มาถึงตรงนี้ผมก็หวังว่าบทความนี้พอจะช่วยสร้างความเข้าใจในเงินดิจิตอลให้กับท่านผู้อ่านได้บ้างนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด