คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : Factor Investing ในปี 2021 และ 2022

25 เมษายน 2565

         การลงทุนแบบ Factor Investing เป็นการคัดเลือกหุ้นโดยใช้ข้อมูลจาก Factor ต่าง ๆ เช่น Growth (กลุ่มหุ้นเน้นการเติบโต), Value (กลุ่มหุ้นเน้นคุณค่า), Quality (กลุ่มหุ้นเน้นคุณภาพของสถานะทางการเงินที่ดี) หรือ Momentum (กลุ่มหุ้นเน้นผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา) เป็นต้น ซึ่ง Factor แต่ละกลุ่มจะหมุนเวียนสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป

         ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสำหรับหุ้นทั่วโลกเราจะเห็นว่าการลงทุนในหุ้นที่เติบโตสูง (Growth Stock) สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นที่เน้นคุณค่า (Value Stock) แต่ในปี 2021 เกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมของ Factor Investing สังเกตได้จาก รูปที่ 1 เมื่อหุ้นกลุ่มที่มี Book-to-Price สูง, Earnings Yield สูง และ Dividend Yield สูง ซึ่งจัดอยู่ในหุ้นกลุ่ม Value ไม่ว่าจะเป็นหุ้นใน USA, Developed Market (EAFE IMI) หรือ Emerging Market (EM IMI) สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นกลุ่ม Growth รวมถึงหุ้นกลุ่มอื่น ๆ เช่น Momentum, Quality (Profitability และ Earnings Quality) หรือ Low Residual Volatility (ความผันผวนต่ำ) เป็นต้น

รูปที่ 1: ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนส่วนเกินของ 20% ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละ Factor ในปี 2021
Source: MSCI Barra, SCBAM

         ดังนั้น Factor ในแต่ละกลุ่มจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จึงขึ้นกับสภาวะและวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยในปี 2021 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้รัฐบาลกลางในหลายประเทศต้องดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ หนึ่งในนโยบายหลักคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินนี้ย่อมมีผลกระทบต่อ Factor ต่าง ๆ และเป็นผลทำให้หุ้นในกลุ่ม Growth หรือกลุ่มที่ Leverage สร้างผลตอบแทนได้ลดลง

         ปีนี้สภาวะเศรษฐกิจยังคล้ายกับปี 2021 จากภาพด้านล่าง รูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า Factor กลุ่มที่สร้างผลตอบแทนเป็นบวกยังคล้ายกับภาพใน Figure 1 คือ Factor กลุ่ม Value ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า Factor กลุ่ม Growth เนื่องจากตลาดยังคงมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ธนาคารกลางของหลายประเทศก็เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2019 และยังมีแผนจะปรับขึ้นอีก 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25 % จนจบสิ้นปีนี้

         จากมุมมองดังกล่าวคาดว่า Factor ที่จะยังสร้างผลตอบแทนได้ดีในปีนี้น่าจะยังเป็นหุ้นในกลุ่ม Value คือหุ้นที่มี Earning Yield สูงและอัตราการจ่ายปันผลสูง และด้วยการที่กลุ่มหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีในปีที่แล้วน่าจะยังให้ผลตอบแทนดีต่อเนื่องในปีนี้ด้วย จึงส่งผลทำให้ Factor ในกลุ่ม Momentum น่าจะสร้างผลงานได้ดีในปีนี้ด้วยเช่นกัน

รูปที่ 2: ผลตอบแทนเฉลี่ยของผลตอบแทนส่วนเกินของ 20% ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละ Factor ในปี 2022 Source: MSCI Barra, SCBAM

         อย่างที่กล่าวมา Factor แต่ละกลุ่มจะสร้างผลตอบแทนได้ดีแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา นักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนอาจวิเคราะห์และเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ ที่เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดในช่วงนั้น ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่มีประสบการณ์ไม่มากการเปลี่ยน Factor หุ้นในพอร์ต ถ้าทำไม่สอดคล้องกับสภาวะตลาดอาจจะไม่ให้ผลดี ดังนั้นวิธีที่ปลอดภัยคือการคำนวณคะแนนเฉลี่ยโดยให้น้ำหนักกับทุก Factor เท่า ๆ กันไปตลอด (Equally-Weighted Factors) จาก รูปที่ 1 และ 2 จะเห็นว่าการให้คะแนนแบบเท่า ๆ กัน สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีตามสมควรแล้วเช่นกัน

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด