คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ตราสารหนี้ที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ กับตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับ ...ความสับสนของตลาดตราสารหนี้ไทย

15 ธันวาคม 2559

          สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสมาอบรมต่อใบอนุญาตผู้ค้าตราสารหนี้กับ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ Thai Bond Market Association  ซึ่งในการมาอบรมครั้งนี้ผมได้รับข้อมูลข่าวสารดีๆ มากมาย ประเด็นหนึ่งที่สะดุดใจผมเป็นพิเศษ คือ เรื่องของปริมาณตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ หรือ Non-rated bond ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 2-3 ปี ก่อนหลายเท่าตัว ประเด็นนี้ทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็เฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดเช่นกัน  สำหรับตราสารหนี้ Non-rated ระยะสั้น ถ้านับถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2559 มีปริมาณคงค้างในตลาดประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับตลาดตราสารหนี้ทั้งหมดที่มีขนาดรวมกว่า 10 ล้านล้านบาท หรือตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีขนาด 3ล้านล้านบาท ก็ยังถือว่าไม่มากนัก

          แต่สิ่งที่มันผิดปกติสำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย คือ เราแทบจะไม่มีตราสารหนี้ Non-investment grade หรือตราสารที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้อยู่เลย คือมีเพียง 2 พันล้านบาทเท่านั้น  แต่กลับมีตราสาร Non-rated ถึงแปดหมื่นล้านบาท  แต่พอไปอ่านคำนิยามคำแปลของตราสาร Non-investment grade แล้วก็เริ่มเข้าใจ เพราะท่านแปลมาจากภาษาอังกฤษตรงตัว ว่า เป็นตราสารหนี้ที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง บางครั้งก็ถูกเรียกว่า junk bond แปลตรงตัวว่า "ขยะ" ไม่สามารถลงทุนได้ กล่าวคือแค่ชื่อก็ขายไม่ได้แล้ว ไม่มีใครเอา ถ้าหากไปดูคำบรรยายที่ครบถ้วนของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ท่านว่ากลุ่มนี้คือ บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่า BBB- ลงมา (คือ BB+ จนถึง C)

          แต่พอมาดูคำบรรยายของตราสาร Non-rated ท่านกลับแปลว่า ตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ ที่ปรึกษาทางการเงินบางแห่งแปลเข้าข้างผู้ออกตราสารว่า ตราสารที่ไม่ต้องได้รับการจัดอันดับ พูดสั้นๆ คือ กลุ่มที่ไม่ได้จัดอันดับ ฟังดูแล้วเสมือนว่าจะดูดีกว่า กลุ่มที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ หรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง  ด้วยเหตุนี้บ้านเราจึงแทบจะไม่มีบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Non-investment grade นี้เลย  ปัจจุบันที่มีอยู่ 2 บริษัทก็เป็นบริษัทเดิมที่เคยเป็นระดับลงทุนได้แต่ถูกลดอันดับลงมา ไม่มีบริษัทใดเลยที่ออกตราสารครั้งแรกในสถานะที่เป็น non-investment grade เช่น BB หรือ BB+

          เพื่อนผมที่เคยอยู่สถาบันการจัดอันดับเคยเล่าให้ฟังว่า ในประเทศไทย หากบริษัทใดได้รับผลการประเมินเบื้องต้นว่าจะได้อันดับความน่าเชื่อถือ ประมาณ BB- ถึง BB+ ก็จะปฏิเสธการรับบริการต่อ และขอให้บริษัทจัดอันดับไม่เปิดเผยข้อมูลนั้นกับสาธารณะ ปรากฏการณ์นี้ต่างจากตลาดที่พัฒนาแล้วในต่างประเทศมาก เพราะในตลาดเหล่านั้นผู้ออกตราสารจะเลือกที่บอกนักลงทุนว่าตนได้รับการจัดอันดับ BB หรือ BB+ มากกว่าที่จะเป็น Non-rated เพราะในตลาดของเขาการออกตราสาร Non-rated จะถูกตีความว่าแย่กว่า Non-investment grade เสียอีก และต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงมากไม่แพ้กลุ่มที่ได้รับการจัดอันดับระดับ CCC ลงไป

          แต่ด้วยกฎและโครงสร้างระบบการเงินในประเทศไทยที่อยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและนักลงทุนไล่แสวงหาผลตอบแทน  ประกอบกับยังให้ความไว้วางใจตัวกลางการจัดจำหน่ายตราสารมากกว่าที่จะพึ่งการวิเคราะห์ด้วยตนเอง จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ตลาด Non-rated เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมสังเกตุว่านักลงทุนส่วนใหญ่แม้ว่าจะเป็น High Net Worth หรือผู้มีเงินลงทุนสูงก็มิได้มีความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะบริษัท Non-rated เหล่านี้  ซึ่งถ้านักลงทุนสามารถทราบคร่าวๆได้ว่างบการเงินของบริษัท Non-rated นั้นสามารถเทียบกลับไปที่ตารางการจัดอันดับได้ BB หรือ B หรือ CCC แล้วหากได้อันดับประมาณนั้นในต่างประเทศเขาให้ผลตอบแทนกันเท่าใดคงจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่ดีไม่น้อยเลยนะครับ

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด