คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : สภาวะวิกฤตในตุรกี

12 กันยายน 2561

        ปี 2561 นี้นับเป็นปีที่วุ่นวายสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (Emerging market) มาจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่เกิดขึ้น เริ่มจากการเดินหน้าขึ้นภาษีการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน และการถอนมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้หลายประเทศที่พึ่งพิงการกู้ยืนเงินตราต่างประเทศพบกับแรงเทขายอย่างหนัก และหนึ่งในประเทศที่ได้รับการจับตาจากนักลงทุนได้แก่ ประเทศตุรกี ซึ่งในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีเพิ่ม 2 เท่า ส่งผลให้ตลาดการเงินตุรกีผันผวนอย่างรุนแรง โดยในระยะเวลาเพียง 2 วันค่าเงินลีล่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าอย่างรวดเร็วกว่า 24% ตลาดหุ้นตุรกี (MSCI Turkey Index) ปรับตัวลดลงกว่า -6.5% และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับขึ้นกว่า 2% จาก 18.2% สู่ระดับ 20.5% ทำให้หลายคนมีความกังวลว่าตุรกีจะทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกรอบใหม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองไทยเมื่อปี 2540 หรือไม่

        ปัญหาของตุรกีคืออะไรที่ทำให้นักลงทุนถึงกังวล เพราะเพียงแค่มาตรการภาษีการค้าของสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียวไม่น่าจะส่งผลให้ตุรกีมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสหรัฐฯ และตุรกีก็แทบไม่ได้มีการติดต่อการค้าด้วยกันสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่นักลงทุนกังวลกับประเทศนี้คือปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมมาหลายปี ซึ่งนโยบายของสหรัฐฯ เป็นเพียงการเร่งให้นักลงทุนหันมาสนใจประเทศนี้ใกล้ชิดมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจตุรกีมีความไม่สมดุลหลายอย่าง นับตั้งแต่ปี 2013 ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นโดยล่าสุดปรับขึ้นไปสู่ระดับ 15% ซึ่งสูงมากเทียบกับตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน ทำให้อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศลดลง

        นอกจากนี้ เศรษฐกิจตุรกียังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมมาหลายปี โดย 2 ปีที่ผ่านมา ตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับประมาณ 5%  การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเท่ากับว่าประเทศต้องกู้เงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุลดังกล่าว ส่งผลให้ตุรกีมีหนี้สินในสกุลเงินตราต่างประเทศสูงถึง 4.66 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่ากับ 52.9% ของ GDP ตุรกี  ซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นที่ต้องชำระคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี กว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อนำไปเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเพียง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้มีโอกาสสูงที่ในอนาคตตุรกีจะไม่สามารถใช้คืนหนี้ได้ทั้งหมด 

         

        เมื่อเปรียบเทียบประเทศตุรกีกับประเทศไทยก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 พบว่ามีความเปราะบางคล้ายกันในหลายประเด็น เศรษฐกิจไทยในขณะนั้นมีความร้อนแรงมาก อัตราเงินเฟ้อไทยสูงถึง 10% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงถึง 14% เทียบกับ GDP  และในขณะนั้นทุนสำรองของไทยเองก็ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหนี้สกุลเงินต่างประเทศ กล่าวคือ ประเทศไทยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศอยู่ประมาณ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เป็นหนี้ระยะสั้นประมาณ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ แต่ทุนสำรองต่างประเทศมีเพียง 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามสิ่งที่แตกต่างและเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจตุรกี คือ  นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของตุรกีมีความยืดหยุ่นสูงกว่าประเทศไทย ณ เวลานั้นอย่างมาก กล่าวคือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของตุรกีปัจจุบันเป็นแบบลอยตัว ซึ่งส่งผลให้การปรับตัวของเศรษฐกิจตุรกีมีความรวดเร็วกว่า คือ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนตุรกีอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้าของตุรกีถูกลงในสายตาของผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเทศจะสามารถขายสินค้าในสกุลเงินต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ขณะนี้ใน Social network ก็เริ่มเห็นคนไทยชักชวนกันไปซื้อสินค้า แบรนด์เนมที่ราคาถูกลงในประเทศตุรกีเป็นต้น 

        ความท้าทายของรัฐบาลตุรกีต่อจากนี้คือจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนอย่างไร แม้ว่านักวิเคราะห์ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตตุรกีมีจำกัดและไม่น่าจะขยายวงกว้าง เนื่องจากเศรษฐกิจตุรกีมีสัดส่วนเพียง 1% ของเศรษฐกิจโลก ตลาดหุ้นตุรกีมีขนาดน้อยกว่า 2% เทียบกับตลาดหุ้นโลก เจ้าหนี้ของตุรกีค่อนข้างกระจายตัวและมีสัดส่วนไม่สูงเทียบกับ GDP ประเทศเจ้าหนี้ อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และลดสภาพคล่องทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต้องพิจารณาเข้าลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างรอบคอบมาก ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเช่นเดียวกับตุรกี ซึ่งประเทศเหล่านี้จะมีความยากลำบากขึ้นที่จะกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุล 

        อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศเทศไทยในปัจจุบันยังไม่น่ากังวล เนื่องจากใน 2 ปีที่ผ่านมาเรายังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่า 10% ของ GDP และมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.98 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 3.4 เท่า ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเมืองไทยมีเสถียรภาพสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนในประเทศไทยยังให้ผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่

        นอกจากตุรกีแล้วยังมีประเทศอี่นอีกหรือไม่ที่ยังน่ากังวล เราในฐานะนักลงทุนก็คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไปนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด