คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2017

10 มกราคม 2560

          ในปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนมีความผันผวนทั่วโลก จากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นการแกว่งตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การลงประชามติในสหราชอาณาจักร และอิตาลี การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบ และสร้างความผันผวนต่อทิศทางการลงทุนเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่บางปัจจัยก็ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปี 2017

          โดยในปี 2017 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาดการณ์โดยเฉพาะฝั่งอเมริกาที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และทำให้มุมมองอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปีที่กำลังจะมาถึง ส่วนทางฝั่งยุโรป ถึงแม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ แต่ความเสี่ยงทางด้านการเมืองจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในฝรั่งเศส และเยอรมนี หรือการประกาศใช้กฎหมายมาตรา 50 ของสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันให้ระบบการเงินของภูมิภาคมีความตึงตัวมากขึ้น ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่จะช่วยสนับสนุนตัวเลขผลประกอบการของภาคเอกชน การขึ้นค่าจ้างได้สูงขึ้น และช่วยผลักดันภาคการท่องเที่ยว

          ทั้งนี้ ในส่วนของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นภายหลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคบรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตลง นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนในหลายประเทศยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาให้ขยายตัวได้ดีในปี 2017 อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้เสียภาคเอกชนของจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมพ์ที่พุ่งเป้ามาที่การกีดกันทางการค้ากับจีนก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตามองในปี 2017

          โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตราสารทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่จะได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของดอลล่าร์สหรัฐฯ ในขณะที่ตลาด    หุ้นของประเทศกำลังพัฒนาอาจปรับตัวผันผวนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นอาจต้องเน้นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวโดยการพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก เช่น ตลาดหุ้นไทย เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อาจได้รับผลกระทบทางลบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในหุ้นจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่คอยกดดันให้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเป็นไปอย่างจำกัด  ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนค่อยๆ ทยอยลงทุน และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญนักลงทุนควรพิจารณาระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ก่อนการตัดสินใจลงทุน

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด