COO Talk ตอน “รู้ไว้ได้ประโยชน์ กับแนวทางการยื่นภาษีเงินได้ 2565”

25 กุมภาพันธ์ 2565

          ในช่วงไตรมาสแรกของปี หลายท่านอาจอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยในปีภาษี 2564 นี้ ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นเสียภาษีตามกำหนดเวลาปกติ คือภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 และสำหรับการยื่นแบบออนไลน์ผ่าน E-FILING ของกรมสรรพากร ภายในวันที่ 8 เมษายน 2565 โดยในปีนี้กรมสรรพากรไม่ได้ขยายเวลาการยื่นแบบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID -19 ให้อีกต่อไปแล้ว

          วันนี้เรามีข่าวมาอัพเดทค่ะ สำหรับเงินได้ในปีภาษี 2565 ที่จะยื่นแบบในช่วงต้นปี 2566 ล่าสุดกรมสรรพากรได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการแสดงหลักฐานการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement  Mutual Fund : RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund : SSF) โดยผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุน RMF และ/หรือ SSF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ไม่ต้องยื่นเอกสารรับรองการซื้อกองทุนให้กรมสรรพากรด้วยตนเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นด้วยกระดาษ หรือส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บริษัทจัดการ) จะเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลการลงทุนให้กรมสรรพากรแทนผู้ลงทุน โดยให้ผู้ลงทุนแสดงความประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้ต่อบริษัทจัดการที่ตนได้ซื้อกองทุน RMF และ/หรือ SSF ซึ่งคือการให้ความยินยอม (Consent) ให้บริษัทจัดการดำเนินการส่งข้อมูลการซื้อกองทุน RMF และ/หรือ SSF ของท่านให้กับกรมสรรพากร โดยบริษัทจัดการจะจัดส่งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรต่อไป

          อย่างไรก็ตาม วิธีการให้ความยินยอมดังกล่าวของผู้ลงทุน ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของกรมสรรพากรและสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เช่น (1) กรณีผู้ลงทุน ซื้อกองทุน RMF และ/หรือ SSF ของบริษัทจัดการหลายแห่ง ต้องให้ความยินยอมต่อบริษัทจัดการทุกแห่งหรือไม่ (2) กรณีผู้ลงทุนซื้อกองทุนผ่านตัวแทนขาย เช่น สาขาธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ สามารถให้ความยินยอมผ่านตัวแทนขายได้หรือไม่ (3) กรณีผู้ลงทุนต้องการให้ความยินยอมเป็นบางกองทุนหรือบางรายการจะสามารถทำได้หรือไม่ (4) หากผู้ลงทุนลืมให้ความยินยอม โดยเลยกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนดให้บริษัทจัดการต้องจัดส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรแล้ว ผู้ลงทุนจะสามารถขอเอกสารรับรองการซื้อกองทุนจากบริษัทจัดการและนำไปยื่นตรงต่อกรมสรรพากรเองได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนแล้ว บริษัทจัดการจะประชาสัมพันธ์วิธีการและช่องทางในการให้ความยินยอมให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป

          

          ทั้งนี้ การให้ความยินยอมข้างต้น จะครอบคลุมเฉพาะข้อมูลการซื้อกองทุน RMF และ /หรือ SSF ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเท่านั้น จะไม่รวมถึงข้อมูลกรณีที่ผู้ลงทุนมีการขายคืนกองทุน RMF และ/หรือ SSF รวมทั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) และ/หรือกองทุนรวมเพื่อการออมแบบพิเศษ (Super Saving Fund Extra : SSFX) ผู้ลงทุนยังคงต้องยื่นเอกสารรับรองการขายคืน หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจากบริษัทจัดการต่อกรมสรรพากรเองเหมือนเดิม

          ดังนั้น ในปี 2565 นี้ ผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุน RMF และ/หรือ SSF ต้องไม่ลืมให้ความยินยอมต่อบริษัทจัดการ เพราะในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่ได้ให้ความยินยอม บริษัทจัดการจะไม่มีสิทธิ์ส่งข้อมูลของท่านไปยังกรมสรรพากร ซึ่งอาจทำให้ท่านเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเงินลงทุนในกองทุนไปได้

          สุดท้าย ขอให้ข้อคิดเกี่ยวกับการลงทุนว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” แต่การไม่ลงทุนเลยอาจมีความเสี่ยงมากกว่า เช่น การฝากเงินในยุคที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าเงินเฟ้อ หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่กระจายการลงทุนในหลักทรัพย์อื่น อาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากขาดผู้เช่าหรือผู้ซื้อ ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมจึงนับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์จำนวนมาก มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ตามระดับความเสี่ยงของท่าน รวมทั้งกองทุนรวมบางประเภทยังสามารถนำเงินค่าซื้อไปยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อีก เพราะฉะนั้นอย่าเสียเวลาเรามาเริ่มต้นลงทุน “ให้เงินทำงานแทนเรา” กันค่ะ


อ้างถึง
1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 414) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน และการถือหน่วยลงทุนในกองงทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 415) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองงทุนรวมเพื่อการออม ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564

 

 

โดย  คุณปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์
        Chief Operating Officer
        สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ​