COO Talk ตอน “การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม (Liquidity Risk Management)”

19 พฤษภาคม 2564

          การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร (Demographic Change) เข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) เป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุ (Aged Society) มาตั้งแต่ปี 2548 และคาดว่าประเทศไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ในปี 2564 และเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ภายใน ปี 2578  ซึ่งคาดว่า จะมีประชากรที่มีอายุสูงกว่า 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งนำมาถึงความท้าทายในหลายมิติ ทั้งการลดลงของจำนวนแรงงานที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตลอดจนการสร้างความมั่นคงทางการเงินหลังวัยเกษียณ

          กองทุนรวมเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงิน และมีชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ จากตัวเลขการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของธุรกิจกองทุนรวมเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 9.21% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2552-2563 (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน) เป็นข้อมูลที่สะท้อนความสนใจในกองทุนรวมที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กองทุนรวมมีบทบาทเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีความสำคัญต่อตลาดทุนไทยมาก

          การบริหารจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุน นอกเหนือจากการสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ของกองทุน หนึ่งในการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ คือการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม เพื่อให้มั่นใจว่า กองทุนมีเงินสดเพียงพอสำหรับการจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความผันผวน ผู้ลงทุนเกิดความกังวลใจ ต้องการมีเงินสดไว้ใช้ในยามวิกฤติ จึงตัดสินใจขายตราสารหนี้จำนวนมากในเวลาพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อตลาดตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งความผันผวนดังกล่าว มีผลต่อราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุน และสะท้อนในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) ซึ่งเมื่อ NAV มีความผันผวน ยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการขายคืนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นอย่างมาก จนส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้บางกองทุนต้องเลิกกองทุน เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน

          

          จากเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ทำการศึกษาแนวทางในต่างประเทศเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้บริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมเพิ่มเติม ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

          (1) กลุ่มเครื่องมือประเภทที่ส่งผ่านภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ลงทุน (Pass on transaction cost) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย โดยจะเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่งจากผู้ซื้อหรือผู้ขายคืนหน่วยลงทุน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อขายสินทรัพย์ของกองทุน (transaction cost) เครื่องมือในกลุ่มนี้ ได้แก่ Redemption fee, Swing pricing และ Anti-dilution levies (ADLs)

          (2) กลุ่มเครื่องมือประเภทที่จำกัดคำสั่งรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Restrict access to investor capital) มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอปริมาณการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนจำนวนมาก ที่อาจทำให้กองทุนต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่ลงทุน (asset fired sale) เหลือแต่สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำจนทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่อาจได้รับผลกระทบ เครื่องมือในกลุ่มนี้ ได้แก่ Notice Period, Redemption Gate, Side Pockets และ Suspension of Dealings

          ทั้งนี้แนวคิดและการกำหนดเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือร่วมกันระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา และกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับความเป็นธรรมในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะได้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีเครื่องมือที่สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนลดโอกาสเกิดความเสี่ยงเชิงระบบในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง: เอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564

 

โดย  คุณปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์
        Chief Operations Officer​
        สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ​