CMO Talk : คิดนอกกรอบ Work From Anywhere แนวคิดใหม่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

14 กันยายน 2563

       ในช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาด Covid-19 หลายบริษัททั้งประเทศและต่างประเทศต่างก็ให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ หรือที่เราได้ยินกันคุ้นหูว่า “work from home” จนในปัจจุบันประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ บางบริษัทก็ยังคงให้ทำงานจากที่บ้านอยู่เหมือนเดิม

       นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนจาก work from home เป็น work from anywhere เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในรูปแบบ New Normal ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ที่จะเป็นความหวังในการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย

       ในขณะที่การทำงานในรูปแบบใหม่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในยุคนี้ แต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่ยังชั่งใจว่าจะออกนโยบายให้พนักงานสามารถ work from anywhere ได้ดีหรือไม่ เพราะกังวลว่าผลิตภาพในการทำงานจะลดลง ทว่า หากอ้างอิงตามผลการศึกษาของคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่มาจากการติดตามพนักงานออฟฟิศบริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นเวลา 2 ปี พบว่า คนที่ทำงานอยู่บ้าน “งานเดิน” มากกว่าคนที่ทำงานในสำนักงานถึง 13% ส่วนผลสำรวจเมื่อปี 2562 ของแพลตฟอร์มงานฟรีแลนซ์ “แอร์ทาสเกอร์” (Airtasker) พบว่า พนักงานที่ทำงานจากนอกออฟฟิศทำงานมากกว่าพนักงานในออฟฟิศ 1.4 วันต่อเดือน และลูกจ้างที่ทำงานจากบ้านมีเวลาพักในแต่ละวันมากกว่า ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพในการทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พนักงานได้มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น และมีกิจกรรมร่วมกับครอบครัวเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

       อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ควรตระหนักถึงนอกเหนือจากการบริหารเวลานั้น คือเรื่องของการบริหารเงินที่ควรบริหารให้อยู่หมัด ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจากการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศจะลดลง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟ ค่าอาหารที่สั่งจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ ค่าท่องเที่ยว (ในกรณีที่เปลี่ยนรูปแบบเป็น work from anywhere) หรือแม้กระทั่งการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

       

       

       ผมขอฝากเทคนิคการบริหารจัดการเงินง่าย ๆ ในช่วง work from anywhere หรืออาจจะนำไปใช้ได้ตลอดสำหรับการวางแผนการเงิน ดังนี้

  • จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งเดือน เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ เป็นเงินออมเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ ในแต่ละเดือนเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเท่าไหร่ เพราะส่วนมากคนที่เห็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของตนเองแล้ว ก็จะตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ในเดือนต่อ ๆ ไป
  • จัดการรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มักเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เช่น กาแฟราคาแพง ซื้อสินค้าออนไลน์ที่ใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน โดยเราสามารถกำหนดวิธีการซื้อได้ เช่น ซื้อเฉพาะเวลาลดราคา หรือรอให้เวลาผ่านไปอีกสักพักเพื่อดูความต้องการว่าเราจำเป็นหรือแค่อารมณ์ชั่ววูบ
  • จัดสรรเพื่อการลงทุน โดยใช้สูตร รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีตัวช่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอพร้อมโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าก็คือ การลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) เป็นการลงทุนเฉลี่ยในจำนวนเงินที่เท่ากันทุกช่วงเวลาตามที่เรากำหนด ซึ่งอาจกำหนดเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน เป็นต้น และควรมีวินัยการออมอย่างเคร่งครัดเพราะเมื่อเจอวิกฤตอะไรก็ตาม เราก็จะผ่านมันไปได้อย่างไม่ยากเย็น

       ถึงแม้ว่าเราจะ work from home หรือว่า work from anywhere เราก็ควรปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ชีวิตของเราดีขึ้นเป็นอย่างมาก และอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ Work Life Balance ด้วยนะครับ

 

โดย คุณอาชวิณ อัศวโภคิน​
        Chief Marketing Officer สายการตลาดและช่องทางการขาย
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด