CIO’s Talk ตอน “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนปี 2020”

29 มกราคม 2563

          สวัสดีปีใหม่จีนค่ะท่านผู้ถือหน่วย ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 ที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีของตลาดหุ้นทั่วโลก ดัชนี MSCI All Country World Index สหรัฐฯ  ยุโรป ญี่ปุ่น และดัชนี Emerging Markets ปรับตัวสูงขึ้น 8.6% 8.5% 5.8 % 8.7% และ 11.4% ตามลำดับ จากประเด็นสงครามทางการค้าที่คลี่คลายลงภายหลังจากที่สหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงทางการค้าเฟส 1ได้สำเร็จและได้มีการลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมกับการเผยแพร่รายละเอียดของสัญญาทั้ง 86 หน้าสู่สาธารณะชนให้รับรู้

          นอกจากนี้ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากสภาพคล่องที่ขยายตัว ภายหลังธนาคารกลางของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหันกลับมาทำ QE และแสดงจุดยืนที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป โดยในกรณีของสหรัฐฯ นั้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเฟดได้มีการขยายตัวของสินทรัพย์เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนล้านดอลลาร์ และจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายเจโรม พาวว์ ดูเหมือนว่าการขยายตัวในอัตราดังกล่าวจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีนี้เป็นอย่างน้อยก่อนที่เฟดจะมาทบทวนนโยบายอีกครั้ง

          ปัจจัยหลักจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ใครจะเข้ามาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต โดยล่าสุดผลโพลล่วงหน้ายังคงมีผู้นำสองคน คือ นายเบอร์นี่ ซานเดอร์ วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอมอนท์ และนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยของรัฐบาลนายบารัก โอบามา โดยในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มกระบวนการโหวตจากรัฐไอโอว่าและนิวแฮมป์เชียร์ และวันที่ 1 มกราคม หรือ Super Tuesday ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เพิ่มเติมจากอีก 14 มลรัฐ รวมถึงรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสด้วย

          เมื่อมองไปในช่วงต้นปี 2020 นี้ ในรายภูมิภาค ในสหรัฐฯ แม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัว แต่นักลงทุนน่าจะเริ่มตีกรอบ upside ที่จำกัด ภายหลังปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างแรง และการประเมินมูลค่า valuation ที่ตึงตัว ซึ่งหากในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วง earning season มีการสะดุด หลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นมาในไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่ม healthcare ซึ่งมีการปรับตัวของผลตอบแทนสูงขึ้นในไตรมาส 4 ที่ระดับ 14.4% และ 13.4% ตามลำดับ ในขณะที่ระดับ P/E ratio อยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ประมาณ 2 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานนั้นก็ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจเกิดการขายทำกำไรได้ เป็นต้น

          ข้ามมายังฝั่งแอตแลนติคไปที่ยุโรป ก็คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นภายหลังธนาคารการกลาง (ECB) ภายใต้การนำของ นางคริสติน ลาการ์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่หันกลับมาทำ QE อีกครั้ง ตลอดทั้งตัวเลขเศรษฐกิจโดยเฉพาะดัชนี PMI ที่ดูเหมือนจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยในส่วนของการเมืองในสหราชอาณาจักรนั้นก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยพรรค Conservative ของ นาย Boris Johnson ครองเสียงข้างมากในสภา และครองเสียงเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อน และเป็นที่คาดว่าจะทำให้ร่างข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ผ่านสภาได้ในที่สุด

          ในส่วนของญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีระดับ valuation ที่ไม่แพงนัก แต่เศรษฐกิจภายในยังคงได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออก ในขณะที่ภาคการบริโภคในประเทศยังคงอ่อนแอ หากมีปัจจัยบวกเข้ามาอาจทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้แรง

          และเมื่อหันมาที่ทวีปเอเชีย มุมมอง Emerging Markets นอกเหนือจากจีนก็ยังปราศจากปัจจัยขับเคลื่อนที่ชัดเจนและ valuation ที่เริ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนนับว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากคาดว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น จากกสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการลดดอกเบี้ยและอัตราส่วนที่ช่วยบอกความคุ้มค่าของการลงทุน (Risk Return Ratio: RRR) ภาคการส่งออกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนโมเมนตัมจากการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่ดูคลี่คลายลง ในขณะที่ valuation ยังคงไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยบวกดังกล่าว

          ดิฉันเชื่อว่าเรากำลังเข้าสู่ first half 2020 ที่สดใสและได้รับอานิสงส์จากสภาพคล่องที่ขยายตัว และความขัดแย้งจากประเด็นสงครามการค้าที่คลายตัว (อย่างน้อยก็ช่วงนี้) และตลาดหุ้นในหลายภูมิภาคยังคงมีความน่าสนใจในแง่ของปัจจัยพื้นฐานเทียบกับราคา

          Stay invested นะคะ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีค่ะ

 

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​