CIO’s Talk ตอน “ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน”

25 ตุลาคม 2562

          สวัสดีค่ะท่านนักลงทุนทุกท่าน เผลอนิดเดียวเราก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีกันอีกแล้วนะคะ ลมหนาวจากจีนเริ่มพัดพาความเย็นลงมา ซึ่งขัดกับบรรยากาศในการลงทุนของจีนที่ยังนับว่าถ้าไม่ร้อนก็ยังอุ่นๆ อยู่

          เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างตลาดฮ่องกงที่ปรับตัวเด้งขึ้นมาตอบรับข่าวการประท้วง โดยในฮ่องกงเริ่มพิจารณาทางเลือกในการ "หาทางลง" คล้ายกับช่วงต้นเดือนกันยายนที่ นางแครี่  แลม ประกาศถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แม้ว่าความตึงเครียดก่อนจะทยอยปรับตัวลดลงแต่ก็ยังมีผู้ประท้วงอีหลายคนยังคงเรียกร้องยกระดับการชุมนุม ซึ่งเราคงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดหลังจากล่าสุดประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ออกมากล่าวเตือนว่าใครที่คิดแบ่งแยกดินแดนจากจีนจะถูก "บดร่างบดกระดูก" โดยแม้ว่าในถ้อยแถลงดังกล่าวนั้น สีจิ้นผิงจะไม่ได้กล่าวถึงผู้ประท้วงในฮ่องกงโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเป็นครั้งแรก จนนักวิเคราะห์หลายฝ่ายเริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ปักกิ่งจะเข้ามาแทรกแซง

          สำหรับเรื่อง trade war การประชุมเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา นับว่าเป็น positive surprise โดยส่งผลเชิงบวกในระยะสั้นกับตลาดจากการที่สหรัฐตกลงที่จะชะลอการขึ้นภาษีน้ำเข้าสิ้นค้าจากจีนออกไปก่อน ในขณะเดียวกัน จีนก็ตอบสนองด้วยข้อตกลงที่จะเพิ่มการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะถั่วเหลืองจากเกษตรกรซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องจับตาดูว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมี "พลิกล็อค" อีกหรือไม่ ขนาดใด และใช้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมในการเลือกพิจารณาการลงทุนของเรา

          ส่วนในตะวันออกกลาง เราได้เห็นพัฒนาการใหม่ๆ ของความขัดแย้งในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็น ตุรกี- เคิร์ด-ซีเรีย หรือกรณีระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก็ได้สร้าง volatility แก่ระดับราคาน้ำมันและสินทรัพย์อื่นที่มีค่าสหสัมพันธ์สูงกับราคาน้ำมันทั่วโลกตามกันไปด้วย และเมื่อหันไปทางฝั่งยุโรป การเจรจาเรื่อง brexit กับสหภาพยุโรปยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งเราคงได้ทราบกันเร็วๆ นี้ว่่าใน deadline ที่กำหนดไว้ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เราจะได้เห็นสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ โดยล่าสุดนายโดนัล ทุสก์ ประธานสหภาพยุโรปออกมากล่าวว่ามีพัฒนาการสำคัญของการเจรจาและคาดว่าน่าจะได้คำตอบภายในเดือนนี้เช่นกัน

          เมื่อพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ประกอบกับมิติของเม็ดเงินมหาศาลจากธนาคารกลางทั่วโลกนำโดยสหรัฐฯ และยุโรป สินทรัพย์หนึ่งที่ดูเหมือนจะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นทองคำ โดยทองคำในไตรมาสข้างหน้านี้ นอกจากจะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่จะได้รับอานิสงส์จากอุปทานการเงินของโลกแบบขยายตัวพร้อมๆ ไปกับอุปสงค์ของสินทรัพย์ปลอดภัยจากความขัดแย้งในระดับภูมิภาคนั้น ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์เด่นเพื่อใช้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนในการจัดสรรการลงทุนของท่านนักลงทุนทุกท่านอีกด้วย

          สนุกกับการลงทุนและใช้ความเสี่ยงอย่างเหมาะสมนะคะ แล้วพบกันใหม่เดือนพฤศจิกายนค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด