CIO’s Talk ตอน “การปรับตัวครั้งใหญ่ในโลกการลงทุน (The Great Reset)”

21 ตุลาคม 2564

          สวัสดีค่ะ พวกเราคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ “The Great Reset” จากการประชุม World Economic Forum ในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาหลักเป็นการพูดถึงพัฒนาการในโลกหลังการระบาด Covid-19 ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเน้นถึง 1) ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น 2) ความเท่าเทียมและความยั่งยืน และ 3) การใช้ประโยชน์จาก “อุตสาหกรรม 4.0” เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งเรื่องนี้จริง ๆ แล้วมิใช่เรื่องใหม่ในโลกการลงทุน โดยจากข้อมูลของ Google Trends บ่งชี้ว่าหัวข้อในแต่ละเรื่องมีคนพูดถึงและให้ความสนใจเพิ่มขึ้นมากถึง 3 - 4 เท่าตัวในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่การประชุมนี้พยายามจะให้เกิดการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

          ผู้เชี่ยวชาญต่างก็คาดการณ์ว่า จะเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและดำเนินธุรกิจจะเกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกยุคโลกโลกาภิวัตน์ที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศจะต้องได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกัน โดยภาครัฐก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายภาษี การออกกฎระเบียบ หรือการใช้นโยบายทางการคลังที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เช่น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอล (digital transformation) หรือการดำเนินธุรกิจ - การลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น (ตามมาตรฐานของ UN SDGs)

          นอกจากผู้ประกอบการที่จะต้องปรับตัวแล้ว นักลงทุนก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน อาทิเช่น

          ประการที่ 1) เรื่องของปริมาณข้อมูลด้านการลงทุนที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากผู้ลงทุนมีการติดตามข่าวสาร และข้อมูลการวิเคราะห์การลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้นักลงทุนมีความเข้าใจ และทราบถึงทิศทางการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

          ประการที่ 2) นักลงทุนควรสร้างความเข้าใจกับการลงทุนแบบยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้ เนื่องจากเป็นเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว การลงทุนประเภทนี้ยังมีแนวโน้มที่มีความเสี่ยงต่ำในระยะยาวและให้ผลตอบแทนที่ดีได้อีกด้วย โดยจากการศึกษาของ Morgan Stanley พบว่าผลตอบแทนของกองทุนความยั่งยืนในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนทั่วไปถึง 4.3% ในปี 2563

          ประการที่ 3) เนื่องจากเราอยู่ในโลกแห่งความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้เร็วและรุนแรง ดังนั้นเทคนิคการวิเคราะห์ทางการเงินจากตัวเลขในอดีตจะมีความสำคัญน้อยลง ในขณะที่การเข้าใจแผนในการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารองค์กร และการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แหล่งที่มาของรายได้ - กำไรจะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สามารถนำมาวิเคราะห์ธุรกิจได้มากกว่าผลประกอบการในอดีตที่อาจจะไม่เห็นรูปแบบเดิมอีกแล้ว

          และประการที่ 4) “The Great Reset” ที่สภาวะแวดล้อมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้มากและรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องทดลองโมเดลธุรกิจใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น นักลงทุนจะต้องปรับตัวเมื่อธุรกิจมีการใช้นโยบายการจ่ายปันผลที่ต่ำหรือไม่จ่ายปันผลเลย เพื่อนำเม็ดเงินดังกล่าวมาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งปกติแล้วเงินปันผลมักเป็นสัดส่วนผลตอบแทนที่สำคัญสำหรับนักลงทุนที่เน้นคุณค่า (Value Investors) ซึ่งเป็นสไตล์การลงทุนที่ได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 20 แต่อย่างไรก็ดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2563) สไตล์การลงทุนที่เน้นการเติบโตของรายได้ - กำไร (growth investing) ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าถึง 135% (คำนวณจาก MSCI World AC Growth Index และ MSCI World AC Value Index) ดังนั้น การแลกรายได้ปันผลที่ลดลงกับแนวโน้มกำไรของบริษัทที่ปรับตัวขึ้น อาจจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าสำหรับนักลงทุนในยุคเปลี่ยนผ่านนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือตลาดการลงทุนที่จะเปลี่ยนแปลง เราสามารถเตรียมพอร์ตการลงทุนเพื่อรับรองกับสิ่งที่จะเกิดได้เช่นเดียวกัน โดยนักลงทุนที่สนใจการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับบทความข้างต้น ทางบลจ.ไทยพาณิชย์ ขอแนะนำกองทุนเด่นโดนใจ จำนวน 2 กองทุน ประกอบด้วย

  1. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Sustainable Equity (SCBGEESG) มีกลยุทธ์บริหารเชิงรุก เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Janus Henderson Horizon – Global Sustainable Equity Fund (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนแบบยั่งยืนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว 

  2. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Innovation (SCBINNO) เป็นกองทุนอีทีเอฟที่ใช้กลยุทธ์บริหารแบบเชิงรุก ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียวได้แก่ ARK Innovation ETF (ARKK) (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (disruptive innovation) คาดว่าเป็นกองทุนที่จะได้ประโยชน์จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลง โดยทั้ง 2 กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่ราคาสินทรัพย์จะปรับตัวลงในระยะสั้น จากความคืบหน้าด้านนโยบายทางการเงินแบบรัดเข็มขัดของธนาคารกลางสหรัฐฯ และผลตอบแทนสะสมของหลักทรัพย์ดังกล่าวมีความตึงตัวในระยะสั้น จึงขอแนะนำให้นักลงทุนทยอยสะสมเมื่อราคาปรับตัวลง โดยมีมุมมองต่อทิศทางการลงทุนต่อกองทุนดังกล่าวในระยะยาว

          ทั้งนี้ การลงทุนทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน และอย่าลืมว่าการไม่ลงทุนเลย ก็มีความเสี่ยงกว่าเช่นกัน เพราะฉะนั้นการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ของตนเองจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงที่สุดค่ะ ขอให้ทุกท่านมีความสุข และประสบความสำเร็จในการลงทุนค่ะ

          ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร.02-777-7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​