CIO’s Talk ตอน “ก้าวเข้าสู่ No Normal ที่ไม่ใช่ New Normal อีกต่อไป”

21 เมษายน 2564

          สวัสดีค่ะท่านนักลงทุนทุกท่าน สงกรานต์ปีนี้ก็ได้ผ่านพ้นไปอีกครั้งนะคะ ดิฉันจำได้ว่าปีนี้เป็นปีที่ 2 ของช่วงสงกรานต์ที่เราอยู่ในสภาวะ Lockdown จากภาวะ COVID-19 ที่ได้ลุกลามอีกครั้ง และยังไม่ชัดเจนว่าจะจบลงเมื่อใด คำว่า “No Normal is the New Normal” ที่เราพูดถึงกันบ่อย ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้วเริ่มที่จะชัดมากขึ้น ในขณะที่คำว่า “พอหมดโควิดฉันจะไปที่ไหน” หรือ “ออกไปทำอะไรดี” เริ่มที่จะเลือนรางลงเรื่อย ๆ เราได้เห็นแนวคิดการใช้ชีวิตโดยยอมรับโลกของ COVID-19 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันกันไปซะแล้ว

          หลายอย่างได้เปลี่ยนไปตลอดกาล อย่างแนวคิด Work From Home หรือ Work From Anywhere ที่ธนาคารได้นำมาใช้ดูเหมือนว่าจะกลับสร้างผลลัพธ์ที่น้อยคนจะคาดถึงไว้มาก่อน เราใช้เวลาน้อยลงในการเดินทางไปทำงาน เราได้มี work-life balance ที่สมดุลขึ้น และเราก็ยังมีประสิทธิภาพในการทำงานมากไปกว่าเดิมเสียอีกด้วย

          ในโลกของการลงทุนก็เช่นกัน เราก็ได้เห็นหุ้นในบางกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลาย ๆ เท่าแค่ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บางกลุ่มก็อาจถึงขั้นต้องเข้าฟื้นฟูกิจการยังไม่จบ ในขณะที่นโยบายทางเศรษฐกิจจากภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือเหมือนเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปได้ ก็ได้สร้างผลลัพธ์ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในปริมาณที่ไม่สมมาตรกัน

          สิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจคือ บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางที่เปลี่ยนไปจากเดิมและดูเหมือนว่าจะอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งจากเดิมทีนั้นเป้าหมายหลักและแทบจะเป็นเป้าหมายเดียวซึ่งเป็นเหตุผลของการดำรงอยู่ของธนาคารกลางก็คือ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในโลกพัฒนาแล้ว เราได้เริ่มสังเกตเห็นการพูดถึงหน้าที่ของธนาคารกลางในบทบาทเกี่ยวกับ ”ตลาดแรงงาน” ชัดขึ้นในช่วง 4-5 ปีนี้เอง โดยในสหรัฐฯ นั้น เราได้เริ่มเห็นเป็นครั้งแรกในยุคของนายเจโรม พาวล์ เข้ามาเป็นผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ต่อจากนางแจเนท เยลเลน

          แม้แต่ธนาคารกลางต้นตำรับการดำรงเป้าหมาย Inflation Targeting อย่างนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี 2532 จนธนาคารกลางชาติอื่นค่อย ๆ เริ่มทำตามนั้นก็ได้มีการเพิ่ม “Mandate” ในเรื่องการจ้างงานเข้าไปอยู่ในความรับผิดชอบของ Royal Bank of New Zealand เมื่อ 2 ปีก่อน โดยเฟดเองก็เพิ่งมาเริ่มใช้นโยบาย Inflation Targeting ในสมัยเบน เบอนันกี้ เมื่อปี 2555 นี้เอง แต่แล้วก็กลับกลายเป็นว่า ปี 2020 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้เป็นปัจจัยเร่งให้มีการนำ ”การจ้างงาน” เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในถ้อยแถลงของธนาคารกลางต่างโดยเฉพาะในกลุ่มชาติพัฒนาแล้วเพื่อแสดงให้เห็นถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอยู่เสมอ สิ่งนี้คือเหตุผลที่ว่าเพราะอะไรสัญญาณจากตัวเลขในตลาดแรงงานจึงนับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อสภาวการณ์การลงทุน

          อนึ่ง กรณีของประเทศไทยนั้น หากดูจากบทบาทหน้าที่หลัก 9 ข้อของธนาคารแห่งประเทศไทย เราอาจยังไม่เห็นบทบาทในตลาดแรงงานที่ชัดเจนนัก ซึ่งอาจยังมองว่าเป็นปัญหา Target Assignment จากภาครัฐ โดยโครงสร้างและการแก้ปัญหาการว่างงานควรเป็นหน้าที่ของใคร ควรจะเป็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงแรงงาน หรือควรเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางกันแน่ อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง อย่างน้อยดิฉันดีใจที่ได้เห็นคำว่า “ทั่วถึง” ในพันธกิจและ “ความเป็นอยู่ที่ดี” ในวิสัยทัศน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

          แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพด้วยค่ะ We are all in this together สวัสดีค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​