CIO’s Talk ตอน “โอกาสและสถานการณ์การลงทุน”

12 กรกฎาคม 2561

          สวัสดีครับท่านผู้ถือหน่วยลงทุน  ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอีกหนึ่งเดือนภายใต้ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดของประเทศเราเอง หากดูภาพรวมแล้วสถานการณ์ในเวลานี้ ชี้ให้เห็นว่ามีการแบ่งแยกที่ค่อนข้างชัดเจนระหว่างตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาโดยเฉพาะสหรัฐฯ และตลาดหุ้นที่เหลือ มีกระแสเม็ดเงินยังคงไหลเข้าสู่การลงทุนในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นอย่าง NASDAQ ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนดีที่สุดในครึ่งปีแรก อยู่ที่ประมาณร้อยละ 12 ในขณะเดียวกันหุ้นหลักๆ ในสหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นประมาณร้อยละ 5 โดยเฉลี่ยสะท้อนจากดัชนี S&P500 ไม่เพียงเท่านั้น หุ้นที่มีขนาดเล็กที่อยู่ในดัชนี Russell 2000 หมายถึงหุ้นที่มีขนาดย่อมลงไปก็สามารถทำได้ดี โดยปรับตัวขึ้นถึงร้อยละ 11 นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าในกลุ่ม Commodities หลายๆ ชนิดรวมกันก็มีผลตอบแทนเป็นบวกเล็กน้อย

          นั่นคือสิ่งที่ปรับตัวขึ้นในช่วงหกเดือนแรก หากแต่ว่าถ้ามองข้ามไปอีกด้านหนึ่งดัชนีในประเทศเกิดใหม่ไม่ว่าจะเป็นอย่างประเทศตุรกี บราซิล และในแอฟริกานั้นก็ได้ปรับตัวลดลงประมาณ 20-30% เลยทีเดียว รวมไปถึงดัชนีของเกาหลี เม็กซิโก อินเดีย ต่างก็ปรับลดลงประมาณ 7-10% และแน่นอนที่สุดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทนั้นอ่อนตัวลงได้อีก 2-3% ในช่วงเวลาสั้นๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่เรียกว่า Risk Off หรือการลดความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ และกลับไปเพิ่มความเสี่ยงในตลาดที่คิดว่ามีความผันผวนน้อย หรือมีแนวโน้มที่ดี หรือเป็น Risk On โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นตลาดหลักโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา หรือในกลุ่มยุโรปบางประเทศ

          สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังหรือไม่นั้น ผมยังเชื่อว่าวัฏจักรในเรื่องของการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยหรือที่เรียกว่า Mean Reversion นั้นยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่ยังคงมีประสิทธิภาพและยังดำรงอยู่ในตลาด ตลาดในประเทศพัฒนาเริ่มเข้าโซนที่ค่อนข้างอิ่มตัวและอาจจะทำให้เห็นความแตกต่างว่า valuation หรือระดับมูลค่าที่แท้จริงของตลาดในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะรวมถึงไทยด้วยนั้นจะเริ่มมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตลาดอยู่ในภาวะเช่นนี้ กล่าวคือ เมื่อตลาดเล็กๆ ในประเทศเล็กๆ ปรับตัวลดลง แต่ตลาดใหญ่เพียงตลาดเดียวกลับปรับตัวสูงขึ้น 

          ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึง Valuation ที่สวนทางกัน ยกตัวอย่างได้ชัดเจน เช่น หุ้นในประเทศไทยในกลุ่มที่เป็นกลุ่มหลักๆ อย่างเช่นธนาคารพาณิชย์ ท่านผู้ถือหน่วยทราบหรือไม่ว่าในขณะนี้หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ มีมูลค่าการซื้อขายกันระดับราคาอยู่ที่ระดับ Book Value หรือมูลค่าที่แท้จริงของผู้ถือหุ้นเท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูด หรือความน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในระยะยาว เนื่องจากมีความคุ้มค่า นักลงทุนจ่ายเงินซื้อหุ้นเพียงแค่ราคา Book Value ของบริษัท ผมคิดว่าภาพสะท้อนจุดนี้ น่าจะนำไปสู่การคาดการณ์โดยรวมใน sector ของธนาคารว่ามีความสอดคล้อง มีมูลค่าที่แท้จริงที่น่าดึงดูดและน่าในใจในการลงทุนเมื่อเทียบกับในอดีต 

          ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าสู่ second half ที่สดใสกว่าในช่วงต้นปี และหุ้นเริ่มมีความน่าสนใจในแง่ของปัจจัยพื้นฐานเทียบกับราคา ผมคิดว่าเราคงจะต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Equity ต่อไป และหาโอกาสเข้าลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยและตลาดเอเชียโดยเฉพาะการลงทุนโดยผ่านกองทุนที่มีการบริหารจัดการในเชิง active ของ บลจ. ไทยพาณิชย์ของเรา เพื่อช่วยคัดเลือกหุ้น คัดเลือก Sector หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าพื้นฐานที่ยังถูก น่าดึงดูดและน่าลงทุน เราจะผ่านพ้นไปด้วยกันครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดีครับ

 

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด