CIO’s Talk ตอน “จับตาเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก”

11 ธันวาคม 2561

          สวัสดีค่ะ ท่านผู้ถือหน่วย ใกล้จะหมด “ปีจอ” กันแล้ว แต่สำหรับการลงทุนโดยรวมในตลาดโลกในปี 2018 นี้นับว่าไม่ได้ง่ายเหมือน ”ปีระกา” หรือปี 2017 ซึ่งไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ภูมิภาคใดก็ล้วนแต่จะให้ผลตอบแทนได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ในปีนี้นับตั้งแต่ช่วงต้นปีก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดี โดนัลด์  ทรัมป์ โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศจีน และการเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการคนใหม่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ของนาย เจอโรม พาวเวลล์ อีกทั้งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ และการเลือกตั้ง midterm ในสหรัฐฯ ที่ได้เปลี่ยนภาพของสภา Congress ให้กลับมามีดุลยภาพอีกครั้งหลังจากพรรค Democrat สามารถกุมเสียงข้างมาในสภาผู้แทนได้สำเร็จ

          เมื่อมอกไปนอกสหรัฐฯ ในฝั่งจีน ก็มีการกลับลำนโยบายทางการเงิน การลดหนี้หรือ Deleveraging และการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าแบบตอบโต้กับสหรัฐฯ ในขณะที่ฝั่งยุโรปก็ยังคงมีความกังวลทางการเมืองและการคลังในอิตาลี และกระบวนการในการดำเนินการของกรณี Brexit ที่ยังคงไม่ได้ข้อสรุป เป็นต้น

          ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในหลายมิติดังกล่าวนี้ก็ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวผันผวนเป็นอย่างมาก โดยเมื่อนับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนตลาดโลกสะท้อนโดยดัชนี MSCI All Country World Index ปรับตัวลดลงประมาณ 2% ในขณะที่ตลาดโลกไม่นับสหรัฐฯ สะท้อนโดย ดัชนี MSCI All Country World ex-US Index ปรับตัวลดลง 9% และมีเพียงไม่กี่ตลาดในโลกที่ยังคงให้ผลตอบแทนนับแต่ต้นปีเป็นบวก เช่น สหรัฐฯ ในดัชนี S&P500 ประมาณ 2% นอร์เวย์ประมาณ 2% บราซิลประมาณ 17% หรือตลาดที่มีขนาดเล็กลงมา เช่น กาตาร์ประมาณ 22% คูเวตประมาณ 11% นิวซีแลนด์ประมาณ 5% ปานามาประมาณ 3% และอิสราเอลประมาณ 2% เป็นต้น

          แต่เมื่อมองไปในเดือนธันวาคม ยังมีการประชุม G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างกลุ่มชาติผู้นำสำคัญและอาจเป็นช่วงที่นักลงทุนทั่วโลกต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นการพบกันระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ในประเด็นของสงครามการค้า ซึ่งแม้ว่าอาจไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมออกมา แต่แค่เพียงท่าทีที่ออกมาในลักษณะผ่อนคลายหรือประนีประนอมก็อาจจะเพียงพอแล้วที่จะเพิ่มบรรยากาศและ Risk Appetite ของตลาดในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงอย่างน้อยก็ต้นปีหน้า

          ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองการประชุม OPEC ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์แรกของเดือนก็เป็นอีกหนึ่งการประชุมที่นักลงทุนทั่วโลกพลาดไม่ได้ เพราะหากการเจรจาตกลงกันเพื่อร่วมลดกำลังการผลิตเป็นไปได้ด้วยดีก็อาจจะทำให้ราคาของน้ำมันดิบซึ่งร่วงลงถึงกว่า 30% ในช่วงระยะเวลาเพียงสองเดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) ที่ผ่านมากลับมายืนได้ที่ระดับใกล้เคียงเดิมอีกครั้ง 

          และในช่วงวันที่ 19 - 20 ธันวาคมก็ถือเป็นวันสำคัญของธนาคารกลางทั้งของไทยเองและในสหรัฐฯ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งได้เริ่มมีการส่งสัญญาณที่มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นจริงในเดือนธันวาคมนี้เลยหรือไม่ หลังจากที่ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชีย ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ก็ได้ปรับขึ้นไปเรียบร้อย ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน

          ในส่วนการประชุมของเฟดนั้นแม้ว่าตลาดจะคาดการณ์ไปเรียบร้อยแล้วถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือนธันวาคมนี้ (มีความเป็นไปได้ 80% ณ วันสิ้นเดือนพฤศจิกายน) แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องจับตามองคือการสื่อสารทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยสำหรับปี 2019 ว่า ”อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม” หรือ neutral rate นั้นควรจะอยู่ในระดับใด

          ท่านนักลงทุนทุกท่านคะ แม้ว่าภาพของการลงทุนในปีหน้าจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมาก แต่เหตุการณ์ต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ทิศทางในการลงทุนของโลกในปีหน้าได้ดีพอสมควร เรากำลังจะก้าวข้ามผ่าน จากปีจอเข้าสู่ปีกุนไปด้วยกันนะคะ

          แล้วพบ ”กุน” ใหม่เดือน(ปี)หน้านะคะ สวัสดีค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด