CIO’s Talk ตอน “ปัจจัยที่มีผลต่อสภาวะตลาดโลก”

9 เมษายน 2562

          สวัสดีค่ะท่านผู้ถือหน่วย  เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปีแล้วนะคะ ในหลายๆ ภูมิภาคของโลกนั้น อุณหภูมิทางเศรษฐกิจและการเมืองก็ร้อนแรงไม่แพ้กับในบ้านเราเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ด้านหนึ่งก็มีการกลับมาเจรจาทางการค้า ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีความขัดแย้งอีกครั้งในทะเลจีนใต้ และเมื่อมองไปที่ยุโรปก็มีทั้งเรื่อง Brexit ซึ่งก็ยังไม่จบลงเสียทีแม้ว่าจะเลยเวลา deadline มากแล้ว ในขณะที่ประเด็นจากอิตาลีก็เริ่มที่จะกลับมาในเวลาอันเหมาะเจาะกับเลือกตั้งสภายุโรปกำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนหน้า และสุดท้ายเมื่อหันกลับมาดูที่ในประเทศไทยเราเองนั้น ควันหลงจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีของไทยก็สร้างกระแสการจับตามองของนักลงทุนจากต่างประเทศได้ไม่แพ้กันเลยค่ะ

          ในสหรัฐฯ นั้นต้องยอมรับว่า sentiment ได้เริ่มที่จะกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังจากรายงานของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ได้ข้อสรุปว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับประธานาธิบดีทรัมป์ในประเด็นของการแอบร่วมมือกับรัสเซียในการแทรกแซงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 อย่างไรก็ตามก่อนจะปิดสรุปนั้น รายงานของนายมุลเล่อร์ได้ทิ้งข้อความเล็กๆ ไว้ในประเด็นที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีการกระทำที่เป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ โดยตัดสินใจที่จะ ”สรุปว่าไม่สรุป” ประเด็นดังกล่าวและปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของนายวิลเลี่ยม บาร์ ผู้ซึ่งได้รับการมอบหมายจากทรัมป์เองให้มาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเมื่อไม่นานมานี้แทน

          แล้วก็เป็นที่คาดการณ์กันได้ว่านายวิลเลี่ยม บาร์สรุปว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอในการเอาผิดทรัมป์ได้เช่นกัน โดยทางสภาผู้แทนราษฎรซึ่งนำโดยนางแนนซี่ เปโลซี่ ผู้นำเสียงข้างมากในสภาฝ่ายเดโมแครตก็ได้เริ่มตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นกลางทางการเมืองในตัวนายวิลเลี่ยม บาร์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเตรียมเรียกเชิญตัวเข้าให้การกับสภาในเร็วๆ นี้เช่นกัน

          เมื่อรายงานเบื้องต้นพอที่จะสรุปสั้นๆ ได้ว่าทรัมป์ไม่ผิด ตลาดที่ได้คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีนั้นก็มีความน่าจะเป็นลดน้อยลงไป ซึ่งในขณะเดียวกันก็ทำให้ความต่อเนื่องของ momentum ในเรื่อง trade deal ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดโลกมีการ Rally มาตั้งแต่ต้นปีนี้เพิ่มขึ้นตามกันไปด้วย

          อีกหนึ่งปัจจัยบวกสำคัญในตลาดสหรัฐฯ ก็คือท่าทีของนายเจโรม พาวล์ ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในประเด็นของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ โดยการสื่อสารครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นการเน้นย้ำถึงจุดยืนของเฟดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก จากการสื่อสารในลักษณะ mid-cycle pause เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็น mid-cycle pause ครั้งที่ 4 ในรอบกว่า 30 ปี โดยตลาดก็ได้ปรับการณ์ลดการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะ ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลงทิ้งทั้งหมด (ความน่าจะเป็นมีค่าเท่ากับศูนย์) และได้เริ่มมีการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะ ปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแทนด้วยซ้ำ

          ในขณะเดียวกันในฝั่งยุโรป การเจรจา Brexit ยังคงยืดเยื้อแม้ว่าจะผ่าน deadline เวลา 5 ทุ่มตรงเมื่อคืนวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ตามเวลาของอังกฤษ โดยนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรียังคงสูญเสียการควบคุมผลลัพธ์ในสภาซึ่งยังไม่มีความแน่นอนใดๆ ทั้งนั้นเพราะล่าสุดสภาได้มีการโหวตปัดตกในทุกข้อเสนอร่วมทั้งข้อเสนอว่าจะ “ไม่ออกจากยุโรป“ ด้วย ในฐานะนักลงทุนเราคงต้องจับตาดูกันไปจนถึงวันที่ 12 เมษายน (ช่วงสงกรานต์พอดี) ว่าจะมีพัฒนาการใดๆ ออกมาหรือไม่

          ในขณะที่ประเด็นความกังวลทางการเมืองและการคลังจากอิตาลีก็เริ่มที่จะกลับมาในเวลาอันเหมาะเจาะกับเลือกตั้งสภายุโรปกำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนหน้าก็เริ่มที่จะสร้างความกังวลมากขึ้นหลังจากค่า Credit Default Swap ของรัฐบาลอิตาลีก็เริ่มไต่กลับมาที่ระดับสูงขึ้นอีกครั้ง

          เมื่อหันกลับมาการเลือกตั้งของไทยก็ได้เป็นอีกปัจจัย overhang ปัจจัยหนึ่งที่ชะลอการตัดสินใจการเข้าลงทุนเพิ่มจากนักลงทุนต่างชาติมาโดยตลอด ทั้งนี้แม้ว่า กกต. จะออกมากำหนดวันประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า และคำถามที่สำคัญที่ว่าฝ่ายใดจะเข้ามาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและใครก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยนั้นยังคงมีความไม่แน่นอนซึ่งนักลงทุนจากนานาประเทศก็คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้ผ่านพ้นไปได้ค่อนข้างสงบเรียบร้อยดีค่ะ

          แม้ว่าผลลัพธ์ของการเมืองการเลือกตั้งจะยังคงเป็น overhang ต่อไปอย่างน้อยก็จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคมนั้น แต่นักลงทุนที่ชาญฉลาด ก็ควรที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและมองข้ามไปยังปัจจัยอื่นที่กำหนดราคาตลาดโดยแท้จริง ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและปัจจัย earning ของตราสารทุนในแต่ละตัวและกลุ่มอุตสาหกรรมอีกครั้ง 

          สภาวการณ์ในการลงทุนในช่วงนี้ ทำให้ดิฉันนึกถึงสุภาษิตลาตินเก่าที่ว่า “Fortune favours the bold” หรือ “โชคมักจะเข้าข้างผู้ที่กล้า”

          แล้วพบกันใหม่หลังสงกรานต์ค่ะ สวัสดีค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด