CIO’s Talk ตอน “จับสัญญาณการลงทุนหลังคลื่นลมเริ่มสงบ”

8 กรกฎาคม 2562

          สวัสดีค่ะท่านนักลงทุนทุกท่าน เพียงช่วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปีที่ผ่านมาสภาพการลงทุนในตลาดโลกก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้วดูเหมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดได้เตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อความผันผวนของตลาดหุ้นสูงขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว เราก็ได้เห็นการกลับลำของนโยบายการเงินแบบ “ยูเทิร์น” อย่างสิ้นเชิง ในปัจจุบันตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% จะเป็นระดับที่สูงสุดสำหรับวัฎจักรของเศรษฐกิจและดอกเบี้ยครั้งนี้ และในปัจจุบันตลาดก็ได้คาดการณ์ถึงการปรับลดลงสองครั้งในปีนี้และอีก 1-2 ครั้งในปีหน้าเป็นที่เรียบร้อย

          หลังจากช่วง Risk Off ในเดือนพฤษภาคมสินทรัพย์เสี่ยงในหลายๆ ตลาดทั่วโลกก็สามารถฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วโดยมีหนึ่งในสาเหตุหลัก ได้แก่ แรงหนุนจากธนาคารกลางทั่วโลกที่ออกมาในลักษณะผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งเราได้เห็นปรากฎการณ์ "ข่าวร้าย” ของตัวเลขทางเศรษฐกิจกลายเป็น “ข่าวดี” ในแง่ของนโยบายการเงินแทน

          ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตามองไปที่การประชุม G20 ซึ่งเป็นเวทีสุดยอดผู้นำและเป็นโอกาสที่ประธานาธิบดีทรัมป์และสีจิ้นผิงจะได้พบปะและคุยกันถึงประเด็นเรื่อง Trade War/Trade Deal รวมถึงประเด็น side deal ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การแบนบริษัท Huawei ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของชาติ

          นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีประเด็นร้อนในเรื่องบทบาทของชาติมหาอำนาจทั้งสองในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองในตะวันออกกลางโดยเฉพาะในช่องแคบฮอร์มุส โดยทรัมป์ได้แสดงความเห็นว่าศักยภาพทางการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ควรนำมาใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เท่านั้น  ในขณะที่เรือขนส่งน้ำมันที่มีการขนส่งผ่านแคบฮอร์มุสนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นการส่งน้ำมันไปสู่ภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น มิใช่สหรัฐฯ

          เมื่อพิจารณาลึกเข้าไปมองว่านักลงทุนโดยรวมคิดอย่างไร จะเห็นได้ว่าอย่างชัดเจนว่านักลงทุนมีการเตรียมตัวรัดเข็มขัดในการลงทุนไว้พอสมควร ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสินทรัพย์ปลอดภัยในประเภทต่างๆ เช่น ทองคำ ค่าเงินเยน และผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยในกรณีของทองคำนั้นล่าสุดราคาได้ปรับตัวขึ้นสู่เหนือระดับ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่ในในรอบ 6 ปี ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปีก็ได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 2.00% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้น

          สิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดมาตลอดและอยากจะฝากไว้ก็คือการมองข้ามถึงผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนี้ และกลับมาพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานในการลงทุนอีกครั้ง เพราะเมื่อใดที่กระแสลมแห่งความผันผวนสงบลง ตลาดก็จะกลับมาพิจารณาถึงปัจจัยที่กำหนดมูลค่าอีกครั้ง ซึ่งอีกหนึ่งครั้งที่คำถามที่สำคัญที่สุดที่มิใช่ถามว่าเราควรเพิ่มหรือลดการลงทุนในปัจจุบัน แต่กลับเป็นคำถามที่ว่า สินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ใดจะมีปัจจัยเฉพาะเจาะจงที่จะสนับสนุนมูลค่าของตัวมันเองได้ในวันที่คลื่นลมสงบลง ดิฉันคาดว่าการคัดสรรหลักทรัพย์ด้วยปัจจัยพื้นฐานจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มหรือ alpha ได้ในระยะถัดไป

          ในกระบวนการนี้ เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการเลือกตราสารหรือตลาดที่มีอัตราการปันผลสูง มีเบต้าต่ำหรือน้อยกว่า 1 รวมทั้งมีสภาพเงินสดเป็นบวก และมี growth visibility ที่ชัดกว่าคู่แข่งหรือ peers และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยความไม่แน่นอนในตลาดโลกที่น้อยกว่าเพื่อนๆ เป็นต้น

          เรามาช่วยกันหาสินทรัพย์เหล่านั้นและสนุกกับการลงทุนไปด้วยกันนะคะ เพราะความเสี่ยงที่อันตรายที่สุดอาจเป็นการเลือกที่จะไม่เสี่ยงอะไรเลย

          แล้วพบกันใหม่เดือนสิงหาคมค่ะ

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน สายการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด