CIO’s Talk ตอน “แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปีหลัง 2560”

30 มิถุนายน 2560

          สวัสดีท่านผู้ถือหน่วยลงทุน ผ่านมาได้ครึ่งทางเป็นเวลา 6 เดือนในปีนี้ ดูเหมือนว่าสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตราสารทุนนั้นยังเป็นสินทรัพย์ชนิดที่มีผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นโดยเฉลี่ย ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุนในตลาดเกิดใหม่ โดยในช่วงหกเดือนที่ผ่านมามีการปรับตัวขึ้นเกือบ 15% ในรูปของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงตราสารทุนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและดัชนีโดยรวมของตราสารทุนทั่วโลก คือดัชนี MSCI AC World Index นั้นก็ปรับตัวขึ้นร่วม 10% ในหมู่ตลาดหลัก ส่วนตลาดตราสารทุนสหรัฐฯ ดูจะ Outperform โดยปรับขึ้นใกล้เคียงกับตลาดโดยรวมของโลกคือประมาณ 10% ตามมาด้วยตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปตามมาเป็นกลุ่มสุดท้าย

          อย่างไรก็ตามทองคำและตราสารหนี้ก็ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในสภาวการณ์ที่สินทรัพย์เสี่ยงหรือ Risk On โดยแม้แท้ที่จริงแล้วควรจะแปรผกผันหรือมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลงสวนทางกันระหว่างตราสารทุน กับตราสารหนี้และทองคำ แต่ในความเป็นจริงนั้น ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือแม้กระทั่งทองคำกลับปรับตัวขึ้นพร้อมๆ กันโดยทิ้งให้สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมันมีการปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรง โดยปรับลดลงอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 15 % กันเลยทีเดียว

          “ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ผมคิดว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของตลาดจะมาจากตราสารหนี้ คือ เมื่อ federal reserve มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 2 ครั้ง และอาจจะมีครั้งที่ 3 หรือ ครั้งที่ 4 ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า แรงกดดันจากการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบในทางลบต่อตราสารหนี้ในระยะยาว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ต่อ”

          หากมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องของ federal reserve แล้ว สัญญาณของอัตราเงินเฟ้อมีการสวนทางหรือปรับขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เพียงเล็กน้อย เชื่อได้ว่าความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ การปรับตัวขึ้นของ Bond Yield อาจทำให้ตลาดมีการหยุดชะงัก หรือที่เรียกว่า Risk Repricing กล่าวคือตลาดตราสารหนี้จะมีผลตอบแทนสูงขึ้นภายใต้ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ที่ค่อนข้างต่ำเหมือนเดิม อาจทำให้มีการย้ายเงินลงทุนกลับเข้าไปสู่ตลาดตราสารหนี้ และเป็นความคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าในฐานะผู้ลงทุนเมื่ออัตราดอกเบี้ยหรือ “คูปอง” ปรับตัวสูงขึ้น ย่อมเป็นกระแสไหลเข้าของเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นนั่นเอง ซึ่งจะทำให้ตลาดตราสารทุนซึ่งอาจจะมีมูลค่า Market cap หรือ Valuation ในระดับที่สูงทำให้มีการชะงักและปรับตัวได้ 

          ในทางกลับกัน หากตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ มีประสิทธิผลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือกลับไม่มีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ในระยะยาวเลย ย่อมส่งผลให้ตลาดตราสารทุนนั้นจะเป็นสินทรัพย์ที่ดูมีความน่าสนใจ และนักลงทุนเมื่อมองออกไปในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า earning หรือแนวโน้มของผลประกอบการที่สูงขึ้นก็จะทำให้ valuation ของหุ้นในปัจจุบันนั้นถูกลงโดยปริยาย ซึ่งรูปการณ์ในลักษณะนี้ จะส่งผลทำให้เราอยู่ภายใต้สภาวะของตลาดตราสารทุน หรือตลาดหุ้นที่เป็นขาขึ้นที่ยาวนานอย่างที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อน

          ภายใต้ภาวะทางสองแพร่งดังกล่าว การประเมินความเสี่ยงของเราคือจะต้องพิจารณาว่าแนวโน้มความรุนแรงของอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระดับเงินเฟ้อซึ่งอาจจะมีมากกว่าที่คิด จนสุดท้ายหากมีการขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงในอัตราเร่งที่สูงและเร็วกว่าในปัจจุบันย่อมนำไปสู่ความเปราะบางในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ในความเห็นของผมนั้น เชื่อว่าเราจะยังคงอยู่ในภาวะของตลาดขาขึ้นของตราสารทุน โดยที่การลดลงของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นจะเป็นตัวช่วยหนุนให้แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอย่างน้อยในช่วงอีก 6 เดือนข้างหน้า ผมจึงคิดว่าการลงทุนในตราสารทุนจะยังคงเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดและถูกต้องสอดคล้องเหมาะกับสภาวการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมักจะถือครองสินทรัพย์ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดเพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวStay invested นะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด