CIO’s Talk ตอน “แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ ปี 2561”

28 ธันวาคม 2560

ในรอบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด นำโดยประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในฝั่งเอเชียรวมถึงประเทศไทยเราปรับตัวดีขึ้นจากอุปสงค์การส่งออกสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น  จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายเงินตึงตัวด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงสามครั้งในรอบปีที่ผ่านมา ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ตลอดปี 2560 ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมุมมองว่านโยบายผ่อนคลายในขณะนี้ยังมีความจำเป็นในการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุปสงค์ภายในประเทศ  นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจกับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมากจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่สูงหากเทียบกับประเทศฝั่งเอเชียอื่นๆ ส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้จนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งระยะสั้นและระยะยาวค่อยๆ ปรับตัวลดลง ค่าเงินบาทเองก็แข็งค่าสูงถึง 9% ส่งผลให้เงินบาทจัดอันดับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับที่สองรองจากประเทศเกาหลีใต้ในภูมิภาคเอเชีย

ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการ search for yield ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศซึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบันเป็นจำนวน 3.38 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10% ของปริมาณเงินที่ไหลเข้าตราสารหนี้ทั้งหมดในรอบปีนี้ นอกจากนี้ปริมาณการออกพันธบัตรโดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นได้ลดลงจากปีที่แล้วถึง 20% ส่งผลให้ความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ด้วยอุปสงค์ที่มาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงทั้งระยะสั้นและระยะยาวเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2559 โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุสั้นกว่า 1 ปี และ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 1 – 3 ปีปรับตัวลดลงเฉลี่ย 30 bps อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 3 - 7 ปีปรับตัวลดลงเฉลี่ย 45 bps อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 7 - 10 ปีปรับตัวลดลงเฉลี่ย 40 bps และ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุมากกว่า 10 ปีปรับตัวลดลงเฉลี่ย 30 bps จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ต่ำจึงเป็นเหตุจูงใจให้บริษัทเอกชนมีความต้องการกู้ยืมเงินผ่านการออกหุ้นกู้ ส่งผลให้มีการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบจากปีที่แล้วหรือเกือบ 8 แสนล้านบาท

 

 

แนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2561 สำหรับช่วงอายุ 0 - 3 ปี คาดว่าจะยังคงแกว่งตัวอยู่ในกรอบระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยประเมินว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปี แต่อาจจะปรับขึ้นได้หนึ่งครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ขณะที่ช่วงอายุมากกว่า 3 ปี มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)  โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 ครั้งในปี 2561 อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและการขยายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินซึ่งอยู่ที่ 1 – 4% ในขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 1.50%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ในปีหน้า ทางบลจ.ไทยพาณิชย์ แนะนำให้กระจายเงินลงทุนบางส่วนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น โดยมีกองทุนแนะนำ ได้แก่ SCBSFFPLUS และ SCBTMPLUS หรือหากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งสามารถเลือกลงทุนในกองทุน SCBFPFUND ได้

อย่างไรก็ตามในการลงทุนทุกครั้ง นักลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อประโยชน์ของท่านเองนะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด