CIO’s Talk ตอน “ภาวะกระทิงในตลาดหุ้นทั่วโลก”

27 ธันวาคม 2560

สวัสดีครับท่านนักลงทุน ในช่วงเดือนที่ผ่านมายังคงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นรวมถึงหุ้นไทย ในภาพรวมตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่สะท้อนโดยดัชนี MSCI EM ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันขยับเข้าใกล้ระดับ 30% นอกจากนั้น ตลาดในประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะสะท้อนโดยดัชนี S&P500 หรือดัชนี MSCI World ก็จะเห็นการยืนอยู่ได้ของผลตอบแทนที่ประมาณ 17% อันนี้รวมถึงตลาดญี่ปุ่น ในส่วนของตลาดยุโรปนั้นมีผลตอบแทนอยู่ในระดับ 13% จึงถือได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกนั้นยังอยู่ในภาวะกระทิงหรืออยู่ในช่วงขาขึ้น

คำถามที่นักลงทุนสนใจส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นคำถามที่ว่าหากยังมิได้ลงทุน ช่วงเวลานี้จะยังคงเป็นช่วงเวลาที่ยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่ คำถามนี้คงเป็นคำถามที่ค่อนข้างที่จะตอบได้ยากสักนิดนึง เราลองมาพิจารณากันดูนะครับ

การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหรือหุ้นนั้นแน่นอนที่สุดว่าปัจจัยที่มีผลบวก สนับสนุนต่อการปรับตัวขึ้นหรือการทรงตัวของราคาในตลาด ย่อมมาจากคุณภาพของบริษัท คือรายได้ ความสม่ำเสมอและคุณภาพของรายได้ของบริษัทเหล่านั้น เมื่อมองไปในภาพกว้าง แน่นอนที่สุดตลาดอเมริกาได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างยิ่งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในการประกาศผลประกอบการของหุ้นในดัชนี S&P500 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 70%  ของหุ้นในดัชนีนั้น สามารถมีระดับรายได้ที่ทัดเทียมหรือสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ อันนี้ก็เป็นลักษณะที่ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งว่าความสามารถในการทำกำไรยังอยู่ในระดับที่แข็งแรง ประการที่สองคงเป็นเรื่องที่จะต้องมองเข้าไปในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยซึ่งในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก ดังนั้นค่าเสียโอกาสหรืออัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนจ่ายสำหรับการนำเงินไปลงทุนต่างๆ เช่น เงินฝากธนาคาร หรือสินทรัพย์อื่นจึงค่อนข้างต่ำ ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำก็จะส่งผลต่อการแข็งค่าขึ้นหรือการพยุงค่าของสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นด้วย จึงเห็นได้ว่าทั้งสองปัจจัยยังคงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการทรงอยู่และการเพิ่มขึ้นของระดับราคาเมื่อนักลงทุนมองเข้าไปถึงรายได้ของบริษัทต่างๆ ในปี 2018 รวมถึงในดัชนีไทยด้วย

 

 

ในด้าน credit spread หรือค่าความเสี่ยงที่นักลงทุนปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนทั่วไปก็มีค่าที่ลดต่ำลง ซึ่งหมายความว่าสภาพโดยรวมของตลาดกู้ยืมเงินก็จะมีความคล่องตัวมากขึ้น บริษัทจดทะเบียนก็จะสามารถขยายกิจการ ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนการกู้ยืมเงินต่ำลง อันนี้ก็เป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ Return on Equity หรือผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หรือเป็นการเพิ่มขึ้นของ ROE นั่นเอง

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่จะสนับสนุนตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Markets นั้นก็คือการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเกือบ 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้สินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่นั้น มีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักคือดอลลาร์ และก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นักลงทุนทั่วไปนั้นได้กระจายการลงทุนมายังตลาดเกิดใหม่เพื่อรองรับอานิสงส์จากความหลากหลายของ earning ของบริษัทและการกระจายความเสี่ยงออกจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอีกด้วย

ผมได้กล่าวถึงแนวโน้มในเชิงบวกที่พูดมาทั้งหมด ก็ย่อมอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อระดับรายได้หรือระดับผลกำไรในบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นดัชนีตลาดลงทุนในต่างประเทศ เช่น ดัชนี  S&P500   หรือดัชนี ตลาด  Nikkei มี earning หรือมีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์  และข้อสอง เมื่อผสมผสานกับแนวโน้มหรือมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการลงทุนสูงขึ้นประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้สินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ดูมีความน่าดึงดูดใจน้อยลง และรวมถึงต้นทุนในการกู้ยืมเงินหรือ credit spread ซึ่งแทนที่จะปรับลดลงแบบในปัจจุบัน มีการปรับตัวสูงขึ้น ย่อมเป็น 4 ปัจจัยหลักที่นักลงทุนจะต้องติดตาม เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบเข้าสู่ระดับราคาของสินทรัพย์เสี่ยง

ในปัจจุบันจึงต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ยังมิได้เกิดขึ้นแต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาถัดไป โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐหรือมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีผลกระทบต่อค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยตรงหรือมีบริษัทหลักๆที่เป็นบริษัทชั้นนำมีผลประกอบการที่น่าผิดหวัง หรือมีการผิดนัดชำระหนี้ในผู้กู้รายใหญ่รายหนึ่งรายใด จักย่อมเป็น catalyst หรือเป็นสัญญาณอันแรกที่จะทำให้ตลาดกระทิงนั้นสามารถที่จะกลับกลายเป็นตลาดหมีได้

แต่โดยรวมแล้ว รัดเข็มขัดไว้ให้แน่นนะครับ เรายังคงอยู่ในตลาดขาขึ้น จนถึงเวลาที่มีสัญญาณเตือนผมก็จะรีบเตือนท่านนักลงทุนให้มีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นครับ แต่ในขณะนี้ขอแนะนำว่ายังคงให้ Stay invested ครับ พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดีครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด