CIO’s Talk ตอน “ลงทุนอย่างปลอดภัย ด้วยการลดความผันผวน”

26 เมษายน 2560

          ปัจจุบันสินทรัพย์ที่มีการปรับตัวทางด้านราคาขึ้นสูงที่สุดก็คือ ทองคำ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และมักปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในเวลาที่ตลาดมีความผันผวนหรือยามเกิดวิกฤตต่างๆ แต่ในทางกลับกันเสียงส่วนใหญ่จากนักวิเคราะห์ทั่วโลก มองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะมีการพัฒนาที่ดีกว่าช่วงปีก่อนๆ สำหรับตราสารหนี้ก็มีการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) สหรัฐฯ ในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วในปีนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่านักลงทุนไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวควรจะขึ้นจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอาจต่อเนื่องมาจากความไม่เชื่อมั่นในภาพการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ซึ่งขัดกับการคาดการณ์ที่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

          สำหรับมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ ตลาดตราสารทุนหรือตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วหรือตลาดประเทศเกิดใหม่ก็มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับ 5-8% ถึงแม้ว่าในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมาจะมีการปรับตัวลดลงบ้าง แต่โดยรวมแล้วการปรับตัวที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นรองแค่ทองคำเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตคือ เหตุผลในการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์ทั้งสองประเภทเป็นมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกัน

          ในส่วนของค่าเงินตลาดประเทศเกิดใหม่ โดยรวมแล้วก็แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ และความมั่นใจในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น

          ในระยะสั้น ผมมองว่าเราน่าจะได้เห็นความผันผวนที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยทางด้านบวก (Upside) ของตลาดตราสารหนี้จากระดับปัจจุบันอาจจะมีไม่สูงมากนัก โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในตลาดจะลดต่ำกว่านี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ ถ้ามองในฐานะนักลงทุน ผลตอบแทนที่ได้รับจากตราสารหนี้เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญอาจจะดูไม่ค่อยคุ้มค่า ในขณะเดียวกันตลาดหุ้นที่ราคาขึ้นไปค่อนข้างสูงแล้ว ผมมองว่ามีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงเพื่อปรับสมดุลกับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้น

กลยุทธที่ผมขอแนะนำในปัจจุบัน คือ การลดความผันผวนจากการลงทุน โดยสามารถกระทำได้โดย

  1. เพิ่มปริมาณการถือครองเงินสด เพื่อรอจังหวะในการเข้าซื้อช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านี้ เมื่อยามที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น หรือ รอตลาดหุ้นปรับฐานซึ่งเป็นการปรับตัวเข้าหากันของมุมมองตลาดขาขึ้นและขาลง (Bullish and Bearish) หรือ ถือตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือสั้นกว่า 5 ปี ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ
  2. เลือกหุ้นที่ปันผลสูง หรือมี Beta ต่ำหรือไม่เกินหนึ่ง หรือ ขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลดความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
  3. ค่าเงินของตลาดประเทศเกิดใหม่ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเลือกค่าเงินของประเทศที่มีงบดุลแข็งแรง และมีดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่สูง ค่าเงินของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
  4. ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัจจัยทางด้านบวกสูง หรือมีมูลค่าที่แท้จริงสูง เช่น หุ้น หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (ที่ไม่ใช่ทองคำ) โดยการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจะเป็นตัวช่วยผลักดันราคาของสินทรัพย์เหล่านั้นให้เพิ่มสูงขึ้น

          การลงทุนมิใช่เรื่องยากครับเพียงแค่ต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมเท่านั้น  ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการลงทุน และพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ สวัสดีครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด