CIO’s Talk ตอน “เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้สอดคล้องกับ Fundamental Momentum”

18 กันยายน 2560

สวัสดีครับท่านผู้ถือหน่วยลงทุนทุกท่าน หากเรานับจนถึงสิ้นสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่การลงทุนในทุกๆ สินทรัพย์เป็นปีที่ดีปีหนึ่งเลยครับ ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่สะท้อนโดยดัชนี MSCI Emerging Markets มีผลตอบแทนสูงที่สุด โดยสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 23% จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงรองลงมา คือ ทองคำ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 14% อันนี้คงจะสะท้อนถึงเรื่องของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีการอ่อนค่าลงซึ่งส่งผลในทางตรงกันข้ามด้วยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่นอกนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นหุ้นในตลาดหลักของสหรัฐฯ สะท้อนด้วยดัชนี S&P500 หรือดัชนีหุ้นโลกสะท้อนด้วยดัชนี MSCI World ต่างก็มีผลตอบแทนอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 12-13% ในขณะที่ตลาดยุโรปและญี่ปุ่นก็มีผลตอบแทนใกล้เคียงระดับ 10% และยิ่งไปกว่านั้นสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ก็มีผลตอบแทนค่อนข้างดีโดยเฉพาะในกลุ่ม US High Yield โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับ 5% ซึ่งดูจะโดดเด่นใกล้เคียงกับตราสารหนี้ในตลาดประเทศเกิดใหม่ จึงทำให้บรรยากาศในการลงทุนค่อนข้างจะเป็นบวกเมื่อมองไปรอบด้าน

แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าคิดก็คือเมื่อท่านนักลงทุนมองไกลตัวออกไปแล้วจึงค่อยมองย้อนกลับเข้ามาถึงตลาดทุนไทยนั้น จะพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ ที่เรียกว่า value หรือความมีมูลค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วไปมองหานั้น โดยอาจจะเรียกได้ว่า ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหนึ่งซึ่งยังค่อนข้างที่จะ laggard หรือตามท้ายตลาดโลกหรือตลาดเพื่อนบ้านอยู่พอสมควร มีผลตอบแทนอยู่ในระดับ low single digit ในขณะที่ตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วยกันนั้นโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20% เลยทีเดียว ผมเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายการลงทุนของนักลงทุนที่เริ่มมองหา value หรือความมีมูลค่าของตลาด ซึ่งตลาดไทยก็ดูเหมือนจะเป็นตลาดหนึ่งที่นักลงทุนคงต้องกลับมาให้ความสนใจกัน

Sector ที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มธนาคารซึ่งไม่เพียงแต่ในประเทศไทยแต่รวมถึงในตลาดโลกนั้น จริงๆ แล้วมีการซื้อขายกันอยู่ในระดับ P/E ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ซึ่งถ้าหากว่าเศรษฐกิจโลกซึ่งโดยได้ที่ระดับ 3.8% รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มว่าจะโตได้ในระดับที่ใกล้เคียงกันด้วยเช่นกันนั้น ผมเชื่อว่าเมื่อมี fundamental momentum หรือแรงฉุดที่จะขับเคลื่อนไปในระบบเศรษฐกิจ ระบบธนาคารย่อมเป็นกระดูกสันหลังสำคัญในการที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการปล่อยสินเชื่อหรือทำให้การเติบโตนั้นมีความมั่นคงยั่งยืน ถ้าหากท่านนักลงทุนมองข้ามออกไปจนถึงปีหน้า ก็จะเห็นได้ว่าตลาดทุนในไทยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ผมได้ยกตัวอย่างไปแล้ว เช่น กลุ่มธนาคารหรือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มหลักก็ยังคงมีมูลค่าหรือยังคงมีความน่าสนใจที่จะซื้อเพื่อการลงทุนของพวกเรา

 

 

การแข็งค่าของเงินบาทนั้นย่อมส่งผลทั้งในทางบวกและในทางลบ ข้อดีก็คือการซื้อสินค้าและบริการหรือแม้กระทั่งความสามารถในการที่จะซื้อด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ขณะเดียวกันก็สร้างมูลค่าเพิ่มในเรื่องของการส่งออก ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่า service sector   ซึ่งมีต้นทุนเป็นเงินบาทนั้นก็จะยังคงเป็นอีก sector หนึ่งที่น่าจะมีผลพวงเป็นบวกจากอานิสงส์ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวหรือการเดินทาง และ sector หลักๆ เช่น น้ำมัน ก็ดูเหมือนจะสามารถที่จะยืนทรงตัวและมีการปรับตัวลดต้นทุนและสามารถที่จะสร้างผลกำไรได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างและการชี้ให้เห็นว่าตลาดไทยแม้ว่าจะไม่ได้เป็นตลาด high technology market แต่ก็ยังคงมีมูลค่าซ่อนอยู่จาก sector หลักๆ ในประเทศซึ่งมีความมั่นคงแข็งแรงและมีอัตราการเติบโตของกำไร โดยในปีนี้สามารถเติบโตได้ในระดับ 7-10% ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่การเติบโตของรายได้นั้นยังคงแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของหุ้นในตลาดอาจจะยังไม่สอดคล้องกับความสามารถในการทำกำไรในอนาคต

เมื่อหันกลับมามองหุ้นไทย เราก็คงต้องแบ่งการพิจารณาหลักๆ ออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือ หุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นใน SET50 หรือหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งกองทุนที่เรามีกลยุทธ์ในการที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) ซึ่งมี Morningstar Rating อยู่ในระดับ 4 ดาว ส่วนกลุ่มที่ 2 หากท่านนักลงทุนต้องการลงทุนใน portfolio ที่มีความผันผวนสูงขึ้นเนื่องจากมีความต้องการผลตอบแทนสูงขึ้นเราก็มี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (SCBSE) ซึ่งคัดสรรหุ้นออกมาอยู่ในจำนวนหุ้นรายตัวที่ไม่มาก โดยมีเพียง 20-30 ตัว เน้นเรื่องของคุณภาพและการสร้างผลตอบแทน โดยกองทุน SCBSE ก็เป็นกองทุนที่มี Morningstar Rating อยู่ในระดับ 5 ดาวเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอและมีความสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง หากท่านได้ลงทุนในต่างประเทศไว้เยอะแล้ว อาจจะถึงเวลาหันกลับมามองตลาดหุ้นไทยและกองทุนที่น่าสนใจตามที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นนะครับ

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งนะครับ  สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร.02-777-7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด