SCBAM Market Insight : Report on Oct 12-16, 2020

12 October 2020

“จับตาความเสี่ยงเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่กลับมาปรับตัวดีขึ้น จากดัชนี Composite PMI อย่างเป็นทางการเดือน ก.ย. สะท้อนเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้ง มีความหวังว่าสภาคองเกรสจะผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ได้ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากรัฐบาลเพิ่มเติม ทั้งโครงการภายใต้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีความเสี่ยงจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ประกอบกับการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ระลอกที่สองที่มีความรุนแรงขึ้นในยุโรป

ปธน. Trump เรียกร้องให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้ง ด้วยแรงกดดันทางการเมืองที่คะแนนความนิยมปธน. Trump ตามหลังนาย Joe Biden ผู้ท้าชิงอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้ 1) การให้เช็คเงินสด (One-time cash handout) แก่ประชาชนคนละ 1,200 ดอลล่าร์สหรัฐฯ 2) การให้เงินช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ 3) การให้เงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กวงเงิน 1.35 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นที่จะออกก่อนการเลือกตั้งมีอยู่จำกัด

ดัชนี Composite PMI อย่างเป็นทางการเดือน ก.ย. สะท้อนเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น แม้จะอ่อนแอลงบ้าง โดยเฉพาะในยุโรปที่สถานการณ์ COVID-19 รุนแรงขึ้น นำโดย 1) สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.7 จุดเป็น 57.5 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่ตลาดคาด 2) ยูโรโซน ปรับตัวลดลง -1.5 จุด เป็น 50.4 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวลดลง -2.5 จุด เป็น 48.0 จุด เข้าสู่เกณฑ์หดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) อีกครั้ง 3) จีน ปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.6 จุด เป็น 55.1 จุด จากทั้งภาคการผลิตและภาคบริการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และดีกว่าที่ตลาดคาด 4) ญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.4 จุด เป็น 46.6 จุด สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์หดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) ต่อเนื่อง

จับตาคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจรอบใหม่ของ IMF (WEO Update) ซึ่งจะออกมาในวันที่ 12-18 ต.ค. คาดว่าอาจมีการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้น หลังเศรษฐกิจของประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงความหวังเรื่องวัคซีนที่คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ได้ในช่วงต้นปีหน้า

จับตาการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ รอบที่ 2 ในวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกเลื่อนออกไป หลังจากปธน. Trump ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้การเลือกตั้งมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น

จับตาการประชุม European Council ในวันที่ 15-16 ต.ค. ซึ่งอังกฤษได้ยื่นคำขาดว่าหากไม่ได้ข้อสรุปการค้ากับ EU ภายในวันดังกล่าว จะแยกตัวออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลงในวันที่ 1 ม.ค. 2021 อย่างไรก็ดี คาดว่าอังกฤษและ EU จะได้ข้อตกลงการค้าร่วมกันบางส่วนภายในสิ้นปีนี้

จับตาการประชุม JTC และ JMMC meeting ของกลุ่ม OPEC ในวันที่ 15 ต.ค และ 19 ต.ค. คาดว่าจะไม่ลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติม แต่อาจเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามพัฒนาการของประเทศสมาชิกในการปฏิบัติตามข้อตกลงมากขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัม (SCBINCA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (SCBEMBOND)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ดัชนี SET (SCBSET)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ออยล์ (SCBOIL)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCBEUSM)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (SCBROBOA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)